เป็นการเคลื่อนที่ของอากาศในแนวราบ ซึ่งเกิดจากความแตกต่างของอุณหภูมิและความกดอากาศของพื้นที่สองบริเวณ แต่สำหรับลมที่พัดอยู่บริเวณชายฝั่งทะเล จะมีชื่อเรียกเฉพาะว่า ลมบกและลมทะเล ซึ่งมีความแตกต่างกัน เรามาดูความแตกต่างระหว่างลมบกและลมทะเลกันเลย
ลมบกเป็นลมที่เกิดขึ้นในตอนกลางคืน โดยลมบกนั้นจะมีการเกิดที่ตรงกันข้ามกับลมทะเล คือ ในตอนกลางคืนพื้นดินสามารถคายความร้อนได้ดีกว่าพื้นน้ำ ทำให้อากาศบริเวณพื้นดินมีอุณหภูมิต่ำกว่าพื้นน้ำทะเล ดังนั้น อากาศจึงเย็นกว่าและมีความกดอากาศสูงกว่า ขณะที่พื้นน้ำซึ่งคายความร้อนได้ช้ากว่าพื้นดินมีอุณหภูมิสูงกว่า อากาศมีความหนาแน่นน้อยกว่า จึงลอยตัวขึ้นสูง และอากาศเย็นจากพื้นดินเคลื่อนเข้าแทนที่ ทำให้เกิดลมบก ซึ่งเป็นลมที่เกิดจากการพัดจากชายฝั่งไปยังทะเลนั่นเอง
ตามหลักการเคลื่อนที่ของลมนั้น จะมีการเคลื่อนที่ของอากาศบริเวณที่มีความกดอากาศสูง (อุณหภูมิต่ำ) ไปยังบริเวณที่มีความกดอากาศต่ำกว่า (อุณหภูมิสูง) ซึ่งลมทะเลก็มีลักษณะของการเคลื่อนที่ตามหลักการดังกล่าวเช่นกัน โดยลมทะเลมักเกิดขึ้นในเวลาบ่ายหรือเย็น เนื่องจากตอนกลางวัน พื้นดินได้รับแสงแดด ทำให้มีการสะสมความร้อนเอาไว้ เมื่ออากาศร้อนเหนือพื้นดินมีอุณหภูมิสูง ความกดอากาศและความหนาแน่นต่ำ ทำให้อากาศเกิดการลอยตัวขึ้นสูง อากาศบริเวณทะเลเป็นอากาศเย็นจมตัวลงพัดเข้ามาแทนที่พื้นที่ที่บริเวณพื้นดินที่มีอุณหภูมิสูงและมีความกดอากาศต่ำกว่า ดังนั้น ลมทะเลจึงเป็นลมที่พัดมาจากทะเลเข้าสู่ฝั่งนั่นเอง
สรุปแล้วหลักการเคลื่อนที่ของลมจะพัดจากบริเวณที่มีความกดอากาศสูงไปแทนที่บริเวณที่มีความกดอากาศต่ำ หรือบริเวณที่มีอุณหภูมิต่ำ อากาศเย็น ไปแทนที่บริเวณที่มีอุณหภูมิสูง อากาศร้อนนั่นเอง ไม่ยากเลยใช่ไหมคะสำหรับหลักการของการเกิดลมบกและลมทะเล ประโยชน์ของลมบกและลมทะเลนอกจากจะทำให้เราเย็นสบายแล้ว ยังเป็นประโยชน์สำหรับการเดินเรือออกหาปลาของชาวประมงอีกด้วย
ขอบคุณที่มาจาก ทรูปลูกปัญญา