ดร.วรวิชช ภาสาวสุวัศ รองผู้อำนวยการ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) เปิดเผยว่า รูปแบบแนวทางการประกันคุณภาพภายนอก ปีงบประมาณ พ.ศ.2567 สมศ. ยังคงให้ความสำคัญกับการประกันคุณภาพภายนอกเพื่อการพัฒนาและยกระดับคุณภาพ (Quality Improvement) โดยกำหนดวิธีการประเมินที่เหมาะสมสอดคล้องกับบริบทของสถานศึกษา ทั้งในรูปแบบออนไลน์และออนไซต์ รวมถึงจำนวนวันประเมิน (1-3 วัน) ซึ่งระยะเวลาในการประเมินจะแตกต่างกันตามบริบทสถานศึกษาแต่ละกลุ่ม แต่ละประเภท นอกจากนี้ยังมุ่งเน้นการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้สนับสนุนการประเมินตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ ตลอดจนการนำข้อมูลสารสนเทศไปใช้ในการบริหารจัดการ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ พร้อมสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานต้นสังกัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดภาระของสถานศึกษาให้มากที่สุด
และเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการประกันคุณภาพภายนอกในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 สมศ. ได้พัฒนาแอปพลิเคชัน ONESQA-V ช่วยให้การประเมินคุณภาพภายนอกสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น การบันทึกข้อมูลทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยลดปัญหาการร้องเรียนในกรณีต่างๆ อีกทั้งในกรณีที่เกิดการร้องเรียนก็สามารถตรวจสอบประวัติการดำเนินการผ่านแอปพลิเคชันได้ ซึ่งแอปพลิเคชัน ONESQA-V จะช่วยทำให้ สมศ. และหน่วยกำกับการประเมินคุณภาพภายนอกทราบการดำเนินงานของผู้ประเมินพร้อมกัน
สำหรับรายละเอียดการทำงานของ ONESQA-V สมศ. จะเปิดให้ผู้ประเมินดาวน์โหลดแอปพลิเคชันผ่านช่องทางที่กำหนด หลังจากนั้นผู้ประเมินสามารถล็อคอินเข้าระบบด้วยเลขที่บัตรประชาชน หมายเลขโทรศัพท์ และจะได้รับรหัส OTP ผ่านโทรศัพท์มือถือ หลังจากล็อคอินเรียบร้อย ระบบจะแสดงข้อมูลเบื้องต้นของผู้ประเมิน และข้อมูลของสถานศึกษาและวัน เวลาที่ผู้ประเมินจะต้องลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม ส่วนขั้นตอนการใช้แอปพลิเคชันเพื่อการบันทึกข้อมูลนั้นสามารถทำได้ทั้งแบบพิมพ์ข้อความและบันทึกผ่านเสียง โดยระบบจะแปลงเสียงเป็นไฟล์ข้อความ ซึ่งผู้ประเมินสามารถส่งรายละเอียดไปยังอีเมลเพื่อทำการแก้ไขรายงานสรุปได้ทันที ส่งผลให้งานการประเมินทำได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น ลดความซ้ำซ้อนในการทำงาน และยังช่วยลดภาระงานของสถานศึกษาอีกด้วย
ปัจจุบัน แอปพลิเคชัน ONESQA-V มีความสมบูรณ์พร้อมใช้งานแล้ว 90% ซึ่ง สมศ.จะเริ่มให้ผู้ประเมินใช้แอปพลิเคชันในกระบวนการประเมินอย่างเต็มรูปแบบกับสถานศึกษา จำนวน 4,220 แห่ง ตามแผนการประกันคุณภาพการศึกษาในปีงบประมาณ พ.ศ.2567 โดย สมศ. ได้ทดลองนำร่องทั้ง 4 ระดับ ได้แก่ สถานศึกษาการศึกษาปฐมวัย (ศูนย์พัฒนาเด็ก) จำนวน 5 แห่ง สถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 17 แห่ง สถานศึกษาด้านการอาชีวศึกษา จำนวน 9 แห่ง ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้เขตและอำเภอ และสถานศึกษาขึ้นตรงจำนวน 10 แห่ง รวมทั้งสิ้น 41 แห่ง
“นอกจากการนำแอปพลิเคชัน ONESQA-V มาใช้เพิ่มประสิทธิภาพให้กับการประเมินแล้ว สมศ. ยังได้พิจารณาปรับหลักเกณฑ์การประเมินรูปแบบใหม่เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับสถานศึกษา สามารถนำผลการประเมินไปใช้พัฒนาสถานศึกษาได้จริง โดยรูปแบบการประกันคุณภาพภายนอกปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 สมศ. มุ่งใช้หลักการประเมินเพื่อพัฒนาคุณภาพให้มีความสอดคล้องกับการประกันคุณภาพภายในของสถานศึกษาและหน่วยงานต้นสังกัด โดยสถานศึกษาที่จะได้รับการประเมินคุณภาพภายนอก ต้องมีการรายงานการประเมินตนเองของสถานศึกษา (SAR) ให้หน่วยงานต้นสังกัดหรือหน่วยงานที่กำกับดูแล เพื่อจัดส่งให้ สมศ. ใช้ในการประเมินคุณภาพภายนอกต่อไป” ดร.วรวิชช กล่าว
สำหรับ โรงเรียนวัดสันป่าค่า จ.เชียงใหม่ นับเป็นหนึ่งสถานศึกษานำร่องสำหรับการประกันคุณภาพรูปแบบใหม่ ในส่วนของสถานศึกษาการศึกษาปฐมวัย ที่มีการจัดการเรียนการสอนเพื่อมุ่งพัฒนาศักยภาพเด็กทุกด้าน ถือได้ว่าเป็นต้นแบบของโรงเรียนอนุบาลขนาดเล็กที่จิ๋วแต่แจ๋ว
นายสุวิทย์ มาทฤทธิ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดสันป่าค่า จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า “หลักสูตรและรูปแบบการเรียนการสอนของโรงเรียนวัดสันป่าค่า มีเป้าหมายพัฒนาเด็กในวัย 3 ปี – 6 ปี ให้มีความสมบูรณ์ทุกด้าน ทั้งร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม และสติปัญญา โดยโรงเรียนเน้นให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ โดยใช้กิจกรรมเป็นฐานขับเคลื่อนในการพัฒนาเด็ก ผ่านโครงการ 1,000 วัน 1,000 กิจกรรม อาทิ กิจกรรมโครงการบ้านวิทยาศาสตร์น้อย กิจกรรมการขับเคลื่อนศิลปวัฒนธรรม และการแสดงตามแนวหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งจะใช้ระยะเวลาในการเรียนรู้ตลอดทั้งปี ไม่ใช่เพียงแค่ช่วงเวลาเปิดภาคการศึกษาเท่านั้น เนื่องจากมองว่าเด็กนักเรียนไม่หยุดการเจริญเติบโตทั้งทางร่างกาย จิตใจ สุขภาพ สติปัญญา ดังนั้นสมควรต้องได้รับการพัฒนาต่อเนื่องไม่มีวันหยุดเช่นกัน”
และจากการที่โรงเรียนวัดสันป่าค่า เป็นสถานศึกษานำร่องสำหรับการประเมินคุณภาพรูปแบบใหม่จาก สมศ. พบว่า กระบวนการประเมินคุณภาพภายนอกของ สมศ. มีความสะดวก รวดเร็ว ไม่ยุ่งยาก โดยในการประเมินนั้นเป็นการลงพื้นที่เพื่อมาดูผลจริงในเชิงประจักษ์ โดยไม่ต้องเตรียมเอกสารเพื่อรองรับการประเมินคุณภาพภายนอกแต่อย่างใด ต่างจากในอดีตที่ต้องจัดเตรียมเอกสารซึ่งใช้ระยะเวลามากกว่า ส่วนผู้ประเมินภายนอกที่เป็นผู้แทน สมศ.นั้น นับว่ามีความเป็นกัลยาณมิตรและได้ให้คำแนะนำที่ดี กับสถานศึกษา เรียกได้ว่าเป็นการประเมินที่มีความสอดคล้องกับบริบทของสถานศึกษา ขณะที่ผลการประเมินและข้อเสนอแนะที่ได้รับจากการประเมินคุณภาพสามารถนำมาปรับใช้ได้จริงเพื่อให้เกิดเป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีส่วนช่วยให้โรงเรียนได้รับการยอมรับให้เป็นโรงเรียนอนุบาลจิ๋วแต่แจ๋วต่อไป ทั้งนี้ สิ่งที่อยากฝากสำหรับสถานศึกษาอื่นๆ คือ ขอให้เตรียมความพร้อมสำหรับการประเมินภายนอก
ในรอบใหม่ หากมีหลักสูตรหรือแนวการเรียนการสอนที่โดดเด่นและให้ผลที่ออกมาชัดเจนและเป็นรูปธรรม ภายใต้การบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็น ชุมชน คณะกรรมการสถานศึกษา ผู้ปกครอง และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ที่เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ กำหนดคุณลักษณะของเด็กนักเรียนซึ่งเป็นบุตรหลานในพื้นที่ ก็จะทำให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น