เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2566 ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวในการประชุมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ทั่วประเทศผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ว่า เรื่องการทำงานในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่รัฐบาลใหม่ ขอให้เร่งจัดทำฐานข้อมูลในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็น ข้อมูลนักเรียน ครู ภูมิศาสตร์ที่ตั้ง การจัดการเรียนการสอน สภาพปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ เพื่อเตรียมพร้อมจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายให้ฝ่ายการเมืองที่จะเข้ามา ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงพื้นที่ รวมถึงจะทำให้เกิดการจัดสรรงบประมาณที่ถูกต้องตามวัตถุประสงค์ อย่างไรก็ตามแม้ขณะนี้จะยังไม่ได้รัฐบาลใหม่ แต่สิ่งที่ต้องเร่งเตรียมการไว้ คือ แผนการปฏิบัติการปีงบประมาณรายจ่าย 2567 ซึ่งคาดว่า ทุกเขตพื้นที่ฯ จะประสบปัญหาวิกฤต เนื่องจากงบฯดังกล่าวยังไม่ผ่านการพิจารณาจากสภาผู้แทนราษฎร และยังไม่ได้รับการอนุมัติจากรัฐสภา จึงไม่สามารถเบิกจ่ายได้ทันตามกำหนด
“คาดว่า อย่างเร็วที่สุด จะได้ใช้งบพัฒนาและที่ดินสิ่งก่อสร้างในเดือนมกราคม 2567 สำหรับรอยต่อจะมีมาตรการ โดยให้สามารถเบิกจ่ายได้ในรายการค่าใช้จ่ายประจำ เช่น เงินเดือน ค่าจ้าง ส่วนงบพัฒนา และงบสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ เขตพื้นที่ฯ จะต้องไปดูว่า ช่วงเปลี่ยนผ่านจะบริหารจัดการอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดปัญหา ทั้งนี้เมื่องบปี 2567 มีความล่าช้า จะมีผลต่อเนื่องไปถึงงบปี 2568 ซึ่งทางฝ่ายแผนของเขตพื้นที่ฯ จำเป็นต้องออกแบบการจัดทำคำของบประมาณใหม่ ให้สอดคล้องกัน โดยขอลำดับความสำคัญ และปรับวิธีคิดใหม่ให้สามารถบริหารจัดการได้โดยเร็ว”เลขาธิการ กพฐ.กล่าวและว่า นอกจากนี้เรื่องการบริหารบุคลากรซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงรอยต่อการเติมอัตรากำลังใหม่เข้าไปในโรงเรียนที่ขาดแคลน อีกส่วนคือ การเติมคนเข้าไปในเขตพื้นที่ฯ ที่มีอัตราเงินเดือนแต่ยังไม่มีคน โดยการสอบในการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย ว14 ที่ผ่านมา มีทั้งเขตพื้นที่ฯ ที่สามารถคัดเลือกคนได้ตามอัตราว่างที่เปิดรับ และเขตพื้นที่ฯ ที่ยังได้คนไม่ครบตามอัตราว่างที่เปิดรับ ดังนั้น ขอให้เขตพื้นที่ฯ ที่มีอัตรา และมีบัญชีอยู่แล้ว เรียกบรรจุโดยเร็วที่สุด ส่วนเขตพื้นที่ฯ ที่ไม่ได้คนตามจำนวน ก็จะต้องเตรียมแผนเพื่อขอใช้บัญชีจากเขตพื้นที่ฯอื่น ถ้าสุดท้ายแล้ว ไม่มีเขตพื้นที่ฯ ใดที่มีอัตราให้ใช้ได้ และจำเป็นต้องเปิดสอบรอบสอง ขอให้ทำแผนและรายงานมาที่ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อเตรียมการสอบเสริมในอัตราที่ขาดแคลนต่อไป
ดร.อัมพร กล่าวด้วยว่า เร็ว ๆ นี้จะมีการสอบการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย กรณีที่มีความจำเป็นหรือมีเหตุพิเศษ ว16 ซึ่งมีเขตพื้นที่ฯ และสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ (สศศ.) เปิดรับสมัครรวม 216 แห่ง ใน 51 กลุ่มวิชา อัตราว่างที่เปิดรับ 8,061 อัตรา มีผู้สมัครรวม 26,693 คน และเท่าที่ดูตัวเลขโอกาสที่ผู้สมัครจะสอบผ่าน มีถึง 60% แต่ปัญหาที่ผ่านมา คือ เขตพื้นที่ฯ เปิดสอบในสาขาวิชาเอกที่ลูกจ้าง หรือพนักงานราชการในพื้นที่ฯ ไม่มีคุณสมบัติ จึงไม่มีผู้สมัคร ดังนั้น ผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯ จะต้องวางแผน โดยสาขาวิชาเอกที่ไม่มีลูกจ้างหรือพนักงานราชการที่มีคุณสมบัติสมัครตาม ว16 ก็อาจไปเปิดรับ ในการสอบแข่งขันตาม ว14 โดยผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯ จะต้องมีข้อมูลและวิเคราะห์ให้ถูกต้อง ทั้งนี้ขอให้ถอดบทเรียนจากการจัดสอบ ว14 และดำเนินการจัดสอบ เพื่อคัดคนที่มีความพร้อมที่สุดให้ได้ตามตำแหน่งว่างที่มี ขอให้เขตพื้นที่ฯ ดูแลการออกข้อสอบไม่ให้ยากหรือง่ายจนเกินไป ต้องเป็นข้อสอบที่ได้มาตรฐานมีความเหมาะสมในการคัดเลือกคน ทั้งนี้จากการรับสมัครที่ผ่านมา พบว่า มีหลายเขตพื้นที่ฯ ที่ประกาศรับสมัคร สาขาวิชาเอกเดียว และมีผู้สมัครคนเดียว แต่ยังต้องขอให้ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต (มสด.) ออกข้อสอบ ซึ่งกรณีแบบนี้ ขอให้เขตพื้นที่ฯ ทบทวน ว่าจำเป็นหรือไม่ ที่จะต้องใช้งบประมาณ จ้างมหาวิทยาลัยออกข้อสอบ ทั้งที่มีผู้สมัครที่มีคุณสมบัติอยู่แล้ว โดยคำนึงถึงความจำเป็นและประโยชน์ทางราชการให้มากที่สุด
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก FOCUSNEWS วันที่ 9 สิงหาคม 2566