เมื่อวันที่ 24 ก.ค.2566 ดร.พิเชฐร์ วันทอง รองเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ. )เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ก.ค.ศ.ได้ชี้แจงแนวทางการโยกย้ายครูและบุคลากรทางการศึกษา ตาม ว18/2566 หลักเกณฑ์และวิธีการย้ายข้าราชการครูและบุคคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู และแนวปฏิบัติในการดำเนินการย้ายผู้บริหารสถานศึกษา ไปแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเดิมในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นสถานศึกษานำร่องในเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ผ่านระบบออนไลน์ ในรายการก.ค.ศ.พบเพื่อนครู โดยในส่วนของหลักเกณฑ์การย้ายครู ที่ผ่านมาแต่ละคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษา จะมีช่วงเวลาการย้ายและการออกคำสั่งที่แตกต่างกัน ทำให้เกิดปัญหาห้องเรียนขาดครู ดังนั้นเพื่อทำให้ครูย้ายออก และครูย้ายเข้าทดแทนกันได้ ก.ค.ศ. จึงกำหนดช่วงเวลาในการบรรจุแต่งตั้งให้ตรงกันทั่วประเทศ โดยเกณฑ์การย้ายทั่วไปจะเหมือนเดิม แต่จะมีความชัดเจนมากขึ้นเริ่มใช้ในเดือนมกราคมปี2567 ส่วนแนวปฏิบัติในการย้ายผู้บริหารในพื้นที่นวัตกรรม นั้น วัตถุประสงค์เพื่อให้ได้ผู้บริหารที่มีความรู้ และความเหมาะสมกับพื้นที่นวัตกรรมตามมาตรา31 แห่งพ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาพ.ศ. 2562
นายฉัตรกุล รุ่นประพันธ์ ผู้อำนวยการภารกิจระบบตำแหน่งและวิทยฐานะที่ 2 สำนักงานก.ค.ศ. กล่าวว่า สิ่งที่เพิ่มเติมตามหลักเกณฑ์การย้ายใหม่ คือ เมื่อจบการพิจารณาการย้ายแต่ละครั้ง ผู้มีอำนาจตามมาตรา 53 ของพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 ต้องออกคำสั่งให้การย้ายมีผลภายใน 3 วัน หลังจากรับทราบมติอ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่ฯ โดยในรอบแรก ต้องมีผลภายในวันที่ 1 พฤษภาคม รอบที่ 2 ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม เพื่อให้ครูมีเวลาเตรียมตัว ไปปฏิบัติหน้าที่จัดการเรียนการสอนที่สถานศึกษาใหม่ได้ทันเปิดภาคเรียน ส่วนสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ก็จะต้องกำหนดปฏิทินการบริหารงานบุคคลให้มีความเชื่อมโยงกัน ไม่ว่าจะเป็นการย้าย การสอบแข่งขัน หรือการบรรจุแต่งตั้ง ที่สำคัญ กำหนดให้ส่วนราชการไปพิจารณาจัดทำระบบการย้ายผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งทราบว่าทาง สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และกรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) ได้นำร่องไปแล้วระยะหนึ่ง ขณะที่ผู้บริหารโรงเรียน จะมีหน้าที่เพิ่มจากเดิม คือ นอกจากอนุมัติให้ย้าย หรือไม่ให้ย้ายแล้ว จะต้องชี้แจงรายละเอียด โดยเฉพาะอัตรากำลังครู ว่าขาดหรือเกินอย่างไรและต้องการครูในสาขาวิชาเอกใดมาทดแทน ขณะที่ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ก็จะต้องให้ข้อมูล วิธีการบริหารอัตรากำลังภายในเขตพื้นที่ฯ ของตัวเองด้วย ส่วนการย้ายกรณีพิเศษ เพื่อประโยชน์ทางราชการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์เดิม
“สำหรับการย้ายนั้น อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ จะต้องพิจารณาผู้ที่มีวิชาเอก ตรงตามความต้องการและจำเป็นของสถานศึกษาก่อน ถ้ายังมีตำแหน่งว่างเหลืออีก ให้พิจารณาผู้ที่อยู่ในกลุ่มวิชาเดียวกับสาขาวิชาเอกที่ว่างนั้น ถ้ายังมีตำแหน่งว่างอีก ให้พิจารณาผู้ที่มีประสบการณ์สอน ในสาขาวิชาเอกที่ว่างนั้น แม้จะมีวุฒิไม่ตรงตามสาขาวิชาเอก แต่ยังปฏิบัติหน้าที่สอนในสาขาวิชาที่ว่าง อยู่ โดยผู้มีอำนาจตามมาตรา53 จะต้องออกคำสั่งให้การย้ายมีผลภายใน 3 วัน ส่วนการย้ายกรณีพิเศษ จะมีเงื่อนไข 4 กรณี คือ เจ็บป่วยร้ายแรง ผู้ขอย้ายถูกคุกคามแก่ชีวิต ผู้ขอย้ายขอกลับไปดูแลบิดา มารดา คู่สมรส หรือบุตรที่เจ็บป่วยร้ายแรง และขอย้ายเพื่อติดตามคู่สมรส โดย 2 เหตุแรก เป็นเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องกับชีวิตโดยตรง ให้ครูสามารถขอย้ายได้ทันที แต่หากขอไปดูแลบิดามารดา หากติดเงื่อนไขเวลาการย้ายเดิม ขอให้หมดเงื่อนไขดังกล่าวก่อน โดยเขตพื้นที่ฯ ที่จะรับย้าย ตรวจสอบข้อเท็จจริง และพิจารณาดำเนินการให้แล้วเสร็จภภายใน 45 วัน ”นายฉัตรกุล กล่าว
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก FOCUSNEWS วันที่ 24 กรกฎาคม 2566