เมื่อวันที่ 17 ก.ค.2566 ดร.อรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้า การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่ง ประเภทบริหารระดับ 10 ตามที่ศธ. เสนอจำนวน 5 ราย คือ 1.นายสมใจ วิเศษทักษิณ ผู้ช่วยปลัดศธ. เป็น ผู้ตรวจราชการศธ. 2.น.ส.วันเพ็ญ บุรีสูงเนิน รองศึกษาธิการภาค (ศธภ.)6 เป็นศธภ. 8 , 3.นายศุภชัย จันปุ่ม รองศธภ. 7 เป็นศธภ.13, 4.นายประพัทธ์ รัตนอรุณ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) เป็นรองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) และ 5.นายวิทวัต ปัญจมะวัติ ที่ปรึกษาด้านนโนยบายและแผนของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เป็น รองเลขาธิการกอศ.ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบแล้วนั้น ในวันที่ 27 กรกฎาคม นี้ ตนพร้อมด้วยเลขาธิการคณะรัฐมนตรี จะไปชี้แจงเหตุผลและความจำเป็น ที่จะต้องแต่งตั้งข้าราชการระดับ 10 ในช่วงการเปลี่ยนผ่านรัฐบาล ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ส่วนจะมีข้อติดขัดหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของ กกต. ทั้งนี้หากกกต.ไม่เห็นชอบ ก็อาจส่งผลต่อการบริหารงานในตำแหน่งดังกล่าว และคงเป็นเรื่องที่รัฐบาลใหม่ต้องพิจารณาต่อไป
ดร.อรรถพล กล่าวต่อไปว่า ส่วนการสรรหาเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) และผู้อำนวยการองค์การค้า ของสกสค. ที่ยังค้างอยู่นั้น ดร.พิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัดศธ. ในฐานะรักษาการเลขาธิการสกสค. ก็ได้มาหารือ เพื่อเตรียมความพร้อม สรรหาเลขาธิการสกสค. คนใหม่ แล้ว ดังนั้นตนจึงได้มอบหมายให้สกสค. ไปเตรียมความพร้อม วางแผนงานต่าง ๆ ทั้งเรื่องงบประมาณแต่ละโครงการที่ต้องขออนุมัติจากคณะกรรมการสกสค. และล่าสุด ทางสกสค. ได้เสนอของบเพื่อปรับปรุงโรงพยาบาลครู ของสกสค. ซึ่งทางคณะกรรมการสกสค. เห็นว่า เป็นงบที่เสนอมา ค่อนข้างสูง จึงขอให้เตรียมรายละเอียด เพื่อเสนอรัฐบาลใหม่ในปี 2567 ทั้งนี้ ในแง่หลักการทางคณะกรรมการสกสค. ไม่ขัดข้อง เพราะเป็นการบริการครู แต่ก็มีความเห็นว่า โรงพยาบาลครู ส่วนมากจะให้บริการครู ที่กรุงเทพฯเป็นหลัก ขณะที่ข้าราชการครู มีอยู่ทั่วประเทศ ดังนั้นจึงน่าจะมีช่องทางอื่น ๆ ที่จะส่งเสริมให้ครูได้รับสวัสดิการในส่วนนี้ด้วย เช่น ไปทำความร่วมมือกับโรงพยาบาลในพื้นที่ เพื่อให้ครูได้รับการดูแลรักษาพยาบาลในช่องทางพิเศษ เป็นต้น ส่วนองค์การค้าฯ ก็ได้รายงานข้อมูล ว่าการดำเนินการในปีนี้มีผลกำไรจากการจัดพิมพ์หนังสือเรียน แต่ก็ยังมีภาระหนี้สินที่ยังค้างชำระอยู่อีกหลายพันล้านบาท ดังนั้นจึงต้องเตรียมแผนเพื่อพัฒนาการบริหารจัดการกันต่อไป
“ทั้งตำแหน่งเลขาธิการสกสค. และองค์การค้า ถือว่ามีความสำคัญ โดยเฉพาะเลขาธิการสกสค. ที่ต้องเร่งแต่งตั้งโดยเร็วที่สุด เพราะ กลไกที่ขับเคลื่อนในเชิงพื้นที่ บางเรื่องรักษาการเลขาธิการสกสค. ไม่สามารถดำเนินการได้ เช่น การแต่งตั้งผู้อำนวยการสกสค.จังหวัด ที่ยังว่างอยู่กว่า 20 ตำแหน่ง ดังนั้นจึงต้องเร่งดำเนินการแต่งตั้งเลขาธิการสกสค. เพื่อให้เข้ามาดำเนินการขับเคลื่อนงานสวัสดิการในระดับจังหวัด รวมถึงการกำกับดูแลสวัสดิการครูในพื้นที่ ซึ่งมีข้อปลีกย่อยอีกจำนวนมาก ส่วนผู้อำนวยการองค์การค้า ที่ยังไม่มีตัวจริง ก็มีผลกระทบกับการบริหารงาน เพราะหากเรามีคนที่มีศักยภาพ เข้าไปทำงาน ก็จะทำให้องค์การค้า สามารถแสวงหากำไรได้มากกว่าการจัดพิมพ์หนังสือ ที่ถือเป็นงานประจำ รวมถึงจะได้มีรายได้เพิ่มเพื่อชำระหนี้สินต่าง ๆ ที่ยังค้างอยู่ด้วย ”ปลัดศธ. กล่าว
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก FOCUSNEWS วันที่ 17 กรกฎาคม 2566