วันที่ 11 กรกฎาคม 2566 นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานการประชุมสัมมนาผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ทั่วประเทศ ครั้งที่ 2/2566 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 11-13 กรกฎาคม 2566 โดยมี นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการ กพฐ. นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการ กพฐ. รวมถึงผู้บริหารระดับสูงของ สพฐ. และผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ เข้าร่วม โดยได้รับเกียรติจาก นายธวัชชัย ศรีทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี นายกัมพล ตันสัจจา ผู้อำนวยการสวนนงนุช พัทยา ให้การต้อนรับ ณ ศูนย์ประชุมนานาชาตินงนุชพัทยา สวนนงนุช พัทยา จังหวัดชลบุรี
นายอัมพร พินะสา กล่าวว่า การประชุมสัมมนาผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ทั่วประเทศ ในครั้งนี้ เป็นไปตามนโยบายสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่กำหนดให้มีการจัดประชุมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ในรูปแบบ Online ทุกวันพุธแรกของทุกเดือน และในรูปแบบ Onsite ไตรมาสละ 1 ครั้ง ซึ่งครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 โดยการประชุมหลายครั้งที่ผ่านมา เป็นลักษณะที่ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเป็นผู้รับฟังนโยบายหรือข้อราชการสำคัญจากผู้บริหารระดับสูงของ สพฐ. และมีซักถามประเด็นในช่วงท้ายของการประชุมในแต่ละครั้ง กระทั่งเมื่อวันที่ 23-25 มิถุนายน 2566 ตนได้รับเกียรติมาเป็นประธานในการสัมมนาวิชาการและประชุมใหญ่สามัญ ประจำปี 2566 ของสภาผู้ปกครองและครูแห่งประเทศไทย ณ ศูนย์ประชุมนานาชาตินงนุชพัทยา ภายในสวนนงนุชแห่งนี้ ซึ่งพบว่าเป็นสถานที่ที่เหมาะแก่การเรียนรู้ในด้านต่าง ๆ ของผู้เรียน รวมถึงการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาในทุกระดับ เนื่องจากสวนนงนุชได้รวบรวมองค์ความรู้ทั้งในด้านการเกษตร ประวัติศาสตร์ งานสถาปัตยกรรมและภูมิทรรศน์ ศิลปะ นาฏยศิลป์ วิทยาศาสตร์ และอื่น ๆ อย่างหลากหลาย และยังได้รับการยกย่องโดยเว็บไซต์ Earth & World ในปี 2560 ว่าเป็น 1 ใน 10 สวนที่สวยที่สุดของโลก และเป็นสวนพฤกษศาสตร์เขตร้อน อันสวยงามที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและทวีปเอเชีย
ตนจึงเกิดแนวคิดว่า การประชุมสัมมนาผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา จากรูปแบบที่เป็นการสื่อสารทางเดียว ควรปรับรูปแบบการประชุมให้ทุกคนได้มีส่วนร่วม อีกทั้งเพื่อส่งเสริมให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา มีการบูรณาการแหล่งเรียนรู้เพื่อใช้ประโยชน์ในการจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพ ทั่วถึงและเท่าเทียม สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการศึกษา ค้นหาและพัฒนาแหล่งเรียนรู้ของแต่ละพื้นที่ให้กับสถานศึกษาในสังกัด และต่อยอดไปสู่สถานศึกษาที่จะทำให้นักเรียนสามารถเข้าถึงแหล่งเรียนรู้และได้เรียนรู้อย่างมีความสุข ทั้งภายในและภายนอกห้องเรียน ตามบริบทท้องถิ่นของตน จึงมอบหมายให้รองเลขาธิการ กพฐ. (ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช) และทีมงาน ร่วมกันกำหนดรูปแบบการจัดประชุมในครั้งนี้ ซึ่งในการประชุมฯ ครั้งนี้ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจะได้ลงพื้นที่ศึกษาแหล่งเรียนรู้ของสวนนงนุช พัทยา ซึ่งมีทั้งหมด 9 ฐาน โดยแบ่งกลุ่มศึกษาแหล่งเรียนรู้เป็น 12 กลุ่ม เพื่อนำความรู้ต่อยอด นำไปสู่การเรียนรู้ในระดับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และสถานศึกษาต่อไป
นายอัมพร กล่าวต่อไปว่า สำหรับการประชุม ผอ.เขตพื้นที่ฯ ทั่วประเทศในครั้งนี้ มีเป้าหมายและวัตถุประสงค์ 3 ประเด็นใหญ่ๆ คือ ประเด็นที่ 1 เราต้องการให้ผู้บริหารระดับเขตได้มาดูระบบบริหารจัดการ การจัดทำแหล่งเรียนรู้ของสวนนงนุชว่าเขามีวิธีคิดอย่างไร มีวิธีปฏิบัติและจะนำเอาความรู้นี้ไปประยุกต์ใช้กับพื้นที่ได้อย่างไร หรือจะนำนักเรียนที่มีโอกาสหรือด้อยโอกาสเข้ามาดูแหล่งเรียนรู้ตรงนี้เพื่อเปิดวิสัยทัศน์ให้กับเด็กได้ ประเด็นที่ 2 คือการติดตามงานที่เราคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญ เช่น ระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน ซึ่งเราได้กำหนดว่าเดือนมิถุนายนเป็นเดือนแห่งการเยี่ยมบ้านนักเรียน จนถึงวันนี้เราได้มีการสำรวจนักเรียน การพาน้องกลับมาเรียน และสุดท้ายแล้วเราตามน้องกลับมาเรียนได้กี่คน เกณฑ์เด็กนักเรียนได้ครบหรือไม่ และมีเด็กที่ต้องได้รับการดูแลเยียวยาให้เขาได้รับโอกาสอย่างไรบ้าง ทั้งการช่วยเหลือในด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม หรือด้านอื่นๆว่าจะเสริมเติมให้เขาได้อย่างไร เพื่อให้เขามีต้นทุนพร้อมที่จะเรียน โดยเฉพาะหลังจากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งเรารู้กันอยู่ว่ามีปัญหามากมาย และประเด็นที่ 3 คือเรื่องข้อสั่งการที่จะต้องทำ มีอยู่ 3 เรื่องที่สำคัญ คือ 1. เรื่องการวางแผนบริหารอัตรากำลังคน ทั้งการบรรจุแต่งตั้ง ผอ. ครู และบุคลากร 2. เรื่องการเบิกจ่ายงบประมาณที่ได้จัดสรรลงไปแล้วให้สามารถเบิกจ่ายได้ทัน และ 3. การเติมเต็มภาวะ Learning Loss ของเด็ก ด้วยการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) ให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด
“ส่วนในเรื่องของการสอบครูผู้ช่วย ที่มีผู้สอบได้จำนวนน้อย เราก็ต้องมาดูว่าสาเหตุที่ทำให้นักศึกษาครูสอบไม่ผ่านนั้น เป็นเพราะข้อสอบยากหรือวิชาไหนที่เขาทำไม่ได้ เราก็ต้องนำมาวิเคราะห์ต่อไป ซึ่งทางมหาวิทยาลัยที่เป็นหน่วยที่สอนนักศึกษาก็อาจจะต้องเข้ามารับข้อมูลส่วนนี้ไปดูว่าจะปรับตัวหรือปรับเปลี่ยนอย่างไร หรือทาง ก.ค.ศ. เองก็จะต้องนำข้อสรุปที่เราวิเคราะห์กลับไปแก้หลักเกณฑ์ว่าส่วนไหนจึงจะทำให้ครูสอบบรรจุได้ หากในอนาคตเป็นไปได้ ก.ค.ศ. อาจจะต้องทำเหมือนสอบ ก.พ. คือให้เข้าสอบปีละ 2 ครั้ง เช่น สอบภาค ก ภาค ข ไว้แล้ว พอถึงภาค ค ที่ไหนว่างเราก็ไปยื่นใบสมัครที่นั่น อันนี้คือแนวทางที่จะเป็นข้อเสนอว่าทำอย่างไรถึงจะเป็นธรรม ซึ่งเราต้องแก้ไขแล้วเดินหน้าต่อไปโดยทำให้ดีขึ้นกว่าเดิม และต้องหาข้อสรุปหลังจากที่มีข้อมูลที่เพียงพอต่อการตัดสินใจแล้ว ในตอนนี้เรายังไม่ได้วิเคราะห์ว่าทางที่ดีที่สุดคืออะไร และผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้องจะเห็นด้วยกับเราไหม ซึ่งถ้าได้ข้อสรุปแล้วก็จะนำเสนอทาง ก.ค.ศ. รวมถึงมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่เป็นหน่วยผลิตนักศึกษาครูได้พิจารณาต่อไปด้วย” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว
ที่มา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน