เมื่อวันที่ 10 ก.ค.ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยถึงการดำเนินโครงการคอนเน็กซ์อีดี (CONNEXT ED) ว่า นับตั้งแต่ปี 2559 กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้จัดทำ “โครงการโรงเรียนประชารัฐ” ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อร่วมขับเคลื่อนและยกระดับการศึกษาของประเทศไทย โดยมีจุดเน้นพัฒนาโรงเรียนให้มีคุณภาพผ่านความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ได้แก่ ภาครัฐ สนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานและหลักสูตร ภาคเอกชน สนับสนุน ด้านโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยี เสริมทักษะวิชาการ และทักษะอาชีพ และ ภาคประชาสังคม ให้การสนับสนุนเกี่ยวกับกรอบแนวคิดในการพัฒนาคุณภาพทางการศึกษา จากนั้นในปี 2563 คณะทำงานโครงการได้เปลี่ยนชื่อเป็น “โครงการคอนเน็กซ์อีดี” ปัจจุบันมี ภาครัฐ 3 หน่วยงาน ภาคเอกชน 44 หน่วยงาน และภาคประชาสังคม แบ่งกันร่วมพัฒนาโรงเรียนกลุ่มเป้าหมาย รวม 5,567 โรงเรียน ในจำนวนนี้เป็นโรงเรียนสังกัด สพฐ. 5,544 โรงเรียน
เลขาธิการ สพฐ. กล่าวต่อไปว่า ผลการดำเนินโครงการ พบว่า การมีภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ที่มีต้นทุนที่พร้อมมาสนับสนุนส่งเสริมการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานเข้ามาร่วมและเป็นพี่เลี้ยงให้แก่โรงเรียน ทำให้เกิดคุณภาพมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดย
1.ด้านคุณภาพผู้เรียน ผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้น มีความรู้ มีทักษะด้านอาชีพ มีทักษะการคิด คิดวิเคราะห์ คิดสร้างสรรค์ มีคุณธรรม จริยธรรม และสามารถดำรงชีวิตตามบริบทอย่างมีความสุข
2. ด้านผู้สอนและผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษามีภาวะผู้นำ มีการบริหารแบบทีมงาน ส่วนครูพัฒนาตนเองโดยการเข้ารับการศึกษาอบรม จัดกิจกรรมการสอนที่มีรูปแบบหลากหลาย ผู้บริหารและครู นำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารและการสอน
3. ด้านหลักสูตรและการสอน นั้น สถานศึกษามีการพัฒนาหลักสูตรสนองต่อความต้องการของผู้เรียน เช่น หลักสูตรอาชีพ นำแนวคิดของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาบูรณาการในสาระการเรียนรู้ทุกกลุ่มสาระที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
4.ด้านโครงสร้างพื้นฐาน มีการพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ วัสดุอุปกรณ์ พร้อมทั้งสื่อเทคโนโลยีการเรียนรู้ที่หลากหลายเพียงพอต่อจำนวนผู้เรียน พัฒนาและปรับอาคารเรียน อาคารประกอบการที่เอื้อต่อการเรียนการสอน โดยได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณที่เพียงพอ ส่งผลให้การพัฒนาผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์ที่ดีขึ้น และ
5. ด้านการมีส่วนร่วม ภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม ร่วมขับเคลื่อนการพัฒนา มีการกำหนดเป้าหมายพัฒนา การวางแผนสู่การปฏิบัติ มีการติดต่อสื่อสารอย่างต่อเนื่อง และมีวิทยากร ปราชญ์ชาวบ้านให้ความร่วมมือ โดยการให้ความรู้และการฝึกปฏิบัติแก่ผู้บริหาร ครู และผู้เรียน
ดร.อัมพร กล่าวอีกว่า ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ถือเป็นความสำเร็จ เป็นไปตามวิสัยทัศน์และพันธกิจของโครงการฯที่กำหนดไว้ คือ ลดความเหลื่อมล้ำ พัฒนาคุณภาพคน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งจะเป็นการสร้างเยาวชนที่สามารถดึงศักยภาพของตนเองออกมาให้เป็นทั้งคนดีและคนเก่ง จากความสำเร็จนี้ สพฐ.ได้ทำการศึกษาวิจัยการดำเนินงานของภาคเอกชนผู้มีส่วนร่วมในการพัฒนาโรงเรียน ในรูปแบบต่างๆ เพื่อหานวัตกรรมนำไปขยายผลสู่โรงเรียนในสังกัด สพฐ.เสร็จเรียบร้อยแล้วจำนวน 17 เรื่อง และนำไปจะเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ของสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษาในเร็วๆนี้
“ส่วนการดำเนินงานในก้าวต่อไปคณะทำงานโครงการได้หารือกันแล้ว ว่า ต่อไปถ้าโครงการจะเพิ่มสถานศึกษาแห่งใหม่ หรือ เอกชนจะไปขับเคลื่อนในพื้นที่ใด ก็จะเลือกโรงเรียนที่เป็นเป้าหมายที่ สพฐ.ปักหมุดไว้ว่าเป็นโรงเรียนที่จะยกระดับคุณภาพ เพื่อไปสู่สถานศึกษาคุณภาพที่ออกแบบไว้ โดยรุมช่วยกันทำงานในโรงเรียนนั้น เช่น 1 โรงเรียนอาจจะมีหลายบริษัทไปช่วย สพฐ.ก็จะงบฯลงไป ซึ่งจะทำให้เกิดพลังเข้มแข็งขึ้น ยกให้มีคุณภาพ และสามารถช่วยโรงเรียนอื่นๆที่อยู่ข้างเคียงที่ไม่ได้ปักหมุด ให้ได้มาใช้ทรัพยากรที่โรงเรียนคุณภาพนี้ร่วมกัน เช่น ใช้ครูเก่งๆ ใช้เทคโนโลยีดีๆ ใช้ห้องสมุด และสนามกีฬาดีๆ ที่มีประสิทธิภาพร่วมกัน เพราะสุดท้ายแล้วด้วยจำนวนเด็กที่เกิดลดลง การคมนาคมสะดวกขึ้น โรงเรียนในสังกัด สพฐ. ก็ควรจะเหลือไม่เกิน 10,000 โรงเรียน และเป็นโรงเรียนคุณภาพอย่างแท้จริง” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก เดลินิวส์ วันที่ 10 กรกฎาคม 2566