ผลการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ 8/2566 วันพุธที่ 5 กรกฎาคม 2566 โดยมีนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุม และมี รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการ ก.ค.ศ. เป็นเลขานุการการประชุม ซึ่งที่ประชุมได้มีการพิจารณาเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาและมีมติที่สำคัญ ดังนี้
เดิม ก.ค.ศ. ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษาและผู้อำนวยการสถานศึกษา สำหรับสถานศึกษาในพื้นที่พิเศษ สังกัดสำนักงาน คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตามหนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ. ที่ ศธ 0206.6/ว 17 ลงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2558 และตามหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษาที่ปฏิบัติงานในพื้นที่พิเศษ สำหรับศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอ สังกัดสำนักงาน กศน. ตามหนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ. ที่ ศธ 0206.6/ว 2 ลงวันที่ 8 มีนาคม 2561
ในปัจจุบัน ก.ค.ศ. ได้กำหนดมาตรฐานตำแหน่งและมาตรฐานวิทยฐานะของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ใหม่ (ว 3/2564) ดังนั้น การที่จะคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาไปปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่พิเศษ จะต้องสอดคล้องกับมาตรฐานตำแหน่งและมาตรฐานวิทยฐานะดังกล่าวแล้ว ต้องเป็นผู้มีความรู้ความสามารถทางการบริหาร และต้องคำนึงถึงทักษะการดำรงชีวิตในพื้นที่พิเศษด้วย ก.ค.ศ. จึงได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกฯ ตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษาและผู้อำนวยการสถานศึกษา สำหรับสถานศึกษาในพื้นที่พิเศษ ให้มีความสอดคล้องกับมาตรฐานตำแหน่งฯ และบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป โดยสรุปสาระสำคัญของ (ร่าง) หลักเกณฑ์และวิธีการฯ ได้ดังนี้
1. หลักเกณฑ์และวิธีการนี้ ใช้สำหรับการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง รองผู้อำนวยการสถานศึกษาและผู้อำนวยการสถานศึกษา สำหรับสถานศึกษาในพื้นที่พิเศษ ทุกส่วนราชการใน กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้การคัดเลือกฯ ของทุกส่วนราชการ เป็นมาตรฐานเดียวกัน
2. สถานศึกษาในพื้นที่พิเศษ ให้เป็นไปตามที่ส่วนราชการประกาศโดยคำนึงถึงพื้นที่ตั้งของ สถานศึกษา หรือพื้นที่ที่รับผิดชอบในการจัดการเรียนรู้ โดยอาจนำประกาศกระทรวงการคลังหรือกระทรวงมหาดไทย หรือกระทรวงอื่นที่เกี่ยวข้องมาพิจารณา ทั้งนี้เพื่อให้ครอบคลุมและเหมาะสมกับบริบทของแต่ละส่วนราชการ
3. กำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครเข้ารับการคัดเลือกตามมาตรฐานตำแหน่ง ว 3/2564
4. ให้ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา หรือ อ.ก.ค.ศ. ที่ ก.ค.ศ. ตั้ง กำหนดตัวชี้วัดและคะแนนการ ประเมินตามองค์ประกอบการคัดเลือกที่ ก.ค.ศ. กำหนด
5. การประเมิน ให้ผู้ดำเนินการคัดเลือกประเมินตามองค์ประกอบที่ ก.ค.ศ. กำหนด ได้แก่ 1) ประวัติและประสบการณ์ 2) ประเมินผลการปฏิบัติงานที่ผ่านมา และผลงานที่ภาคภูมิใจ 3) แนวคิดในการพัฒนาสถานศึกษาที่สมัครคัดเลือก 4) สัมภาษณ์ เพื่อให้ได้บุคคลที่มีทั้งความรู้และประสบการณ์ในการบริหารมีศักยภาพและทักษะในการดำรงชีวิต รวมทั้งมีเจตคติและอุดมการณ์ในการปฏิบัติงานในพื้นที่พิเศษ
6. กำหนดให้ผู้ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งตามหลักเกณฑ์และวิธีการนี้ ต้องได้รับการประเมินสัมฤทธิผลการปฏิบัติงานในหน้าที่เพื่อพัฒนาการศึกษาเป็นระยะเวลา 1 ปี โดยให้มีการประเมิน 2 ครั้ง ทุก 6 เดือน เพื่อประเมิน การปฏิบัติงานในหน้าที่ และความเหมาะสมกับตำแหน่งที่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้ง เนื่องจากตำแหน่งผู้บริหาร สถานศึกษาเป็นตำแหน่งที่จะต้องขับเคลื่อนงานบริหารจัดการสถานศึกษา เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของส่วนราชการ ต้นสังกัด และกระทรวงศึกษาธิการ ส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน และคุณภาพการศึกษา รวมทั้งเพื่อให้เป็น มาตรฐานเดียวกับการคัดเลือกผู้บริหารสถานศึกษาในพื้นที่ทั่วไป
ที่มา สำนักงาน ก.ค.ศ.