เมื่อวันที่ 4 ก.ค. นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ตามที่มีการจัดสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการ เป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย รอบทั่วไป สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ปี 2566 ได้ดำเนินการสอบเสร็จสิ้นไปแล้ว โดยเมื่อวันที่ 3 ก.ค. ที่ผ่านมา ได้มีการประกาศผลสอบครูผู้ช่วยภาค ก และภาค ข ของ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาแต่ละเขต ซึ่งในการประกาศผลสอบนั้น ทำให้มีประเด็นถกเถียงในเรื่องของข้อสอบพบว่า กลุ่มคลัสเตอร์ที่ใช้ข้อสอบของมหาวิทาลัยสวนดุสิต (มสด.) เกณฑ์ผู้สอบผ่าน 30% อ.ก.ค.ศ.การศึกษาพิเศษใช้ข้อสอบของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) เกณฑ์ผู้สอบผ่าน 40% ขณะที่กลุ่มคลัสเตอร์ที่ใช้ข้อสอบของมหาวิทาลัยราชภัฏ เกณฑ์ผ่าน 10% รวมถึงมีบางเขตพื้นที่ในวิชาเอกไม่มีผู้สอบผ่าน โดยกรณีดังกล่าวที่เกิดขึ้น อาจทำให้บางเขตพื้นที่ได้ครูไม่ทันใช้ เนื่องจากไม่มีผู้สอบผ่าน ซึ่ง สพฐ. ได้วางแผนเบื้องต้นว่า หากเขตพื้นที่ไหนไม่มีผู้สอบผ่าน ทำให้ไม่ได้ครูเข้าไปทดแทนอัตราว่างนั้น จะให้ทำเรื่องขอใช้บัญชีจากเขตพื้นที่อื่นแทน แต่มีหลักการว่าจะต้องขอใช้บัญชีในจังหวัดเดียวกันก่อน หากจังหวัดเดียวกันไม่มี ก็ขอใช้บัญชีข้ามเขตได้ ดังนั้นตนคิดว่าการดำเนินการดังกล่าว น่าจะเพียงพอต่อการใช้ครูในปีนี้
เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า ส่วนประเด็นที่มีเสียงสะท้อนจากผู้เข้าสอบที่ต้องการให้ข้อสอบเป็นมาตรฐานกลางนั้น ตนมองว่าไม่อยากให้มีการเปรียบเทียบกันระหว่างสาขาวิชาเอก เพราะปัญหาการสอบครั้งนี้ สพฐ. จะวิเคราะห์ต่อไปว่า ผู้ที่สอบไม่ผ่านจำนวนมากอาจมาจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ ข้อสอบยากเกินไปหรือไม่ และข้อสอบวิชาเอกในวิชาอังกฤษและคณิตศาสตร์ที่กลุ่มผู้สมัครวิชาเอกอื่น เช่น พลศึกษา ดนตรีสากล มาสอบไม่ผ่านเกณฑ์ 60% เป็นต้น ซึ่งประเด็นต่างๆ เหล่านี้ สพฐ. จะให้มหาวิทยาลัยที่ออกข้อสอบวิเคราะห์ผลกระบวนการสอบว่ามีจุดด้อยอย่างไร และผู้สมัครที่สอบผ่านและที่สอบไม่ผ่านมาจากสาเหตุใดบ้าง ซึ่งตนเชื่อว่าการสอบครูผู้ช่วยรอบทั่วไปครั้งนี้ จะนำปัญหาต่างๆ ที่พบเรื่องข้อสอบ ไปวางแนวทางการสอบในอนาคต ที่จะมีข้อสอบที่เป็นมาตรฐานกลางต่อไป
“ที่ผ่านมา สพฐ. เคยเป็นหน่วยงานกลางผู้จัดจ้างมหาวิทยาลัยเดียวออกข้อสอบเอง แต่พอทำแล้วกลับมีเสียงสะท้อนออกมาว่า สาเหตุใดไม่ให้มหาวิทยาลัยราชภัฏแต่ละแห่งที่อยู่ตามภูมิภาคเป็นผู้ออกข้อสอบเองจะดีกว่าหรือไม่ เพราะมหาวิทยาลัยราชภัฏก็ถือเป็นมหาวิทยาลัยที่ผลิตบัณฑิตครูอยู่แล้ว อีกทั้งเมื่อเรียนอยู่ภูมิภาคไหนก็จัดสอบตามภูมิภาคนั้น ซึ่งประเด็นนี้จึงเป็นที่มาของการกระจายตามกลุ่มคลัสเตอร์จับคู่กับมหาวิทยาลัยในท้องถิ่นออกข้อสอบ เนื่องจากเป็นมหาวิทยาลัยที่ผลิตบัณฑิตครูออกมาเอง จึงเท่ากับว่ามหาวิทยาลัยได้ออกข้อสอบให้ลูกศิษย์ตัวเองได้สอบอยู่แล้ว ทั้งนี้ สพฐ. พยายามออกแบบการสอบอย่างดีที่สุดในการจัดสอบให้มีความเป็นธรรมและตอบโจทย์ความต้องการครูในท้องถิ่นต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาการได้ครูบรรจุใหม่ในท้องถิ่น จะได้ไม่ต้องทำเรื่องโยกย้ายกลับภูมิลำเนาบ้านเกิดของตัวเองอีก แต่เมื่อถึงเวลาปฏิบัติกลับมีปัญหา ซึ่งจากนี้ไป จะต้องไปดูว่ามหาวิทยาลัยควรมีเป้าหมายและนำข้อมูลจากเสียงสะท้อนต่างๆ ไปปรับปรุง เพื่อการสอบครูผู้ช่วยครั้งต่อไป จะต้องทำให้ดีขึ้นกว่าเดิม” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว
อย่างไรก็ตาม มีผู้สอบผ่านภาค ก ความรู้ความสามารถทั่วไป และภาค ข มาตรฐานความรู้และประสบการณ์วิชาชีพ จำนวน 42,952 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 25.59 ของผู้เข้าสอบ โดยมีผู้เข้าสอบทั้งหมด 167,862 ราย
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก เดลินิวส์ วันที่ 4 กรกฎาคม 2566