เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2566 ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ในการประชุมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.)ทั่วประเทศ ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้มีการทำความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดสอบสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) (ว 14/2563) ซึ่งมีคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษา เปิดสอบ204 เขตพื้นที่ กับอีก 1 สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ (สศศ.) ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิสอบไปแล้วเมื่อวันที่ 13 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยการจัดสอบครั้งนี้ สพฐ. ร่วมกับคุรุสภาในการอำนวยความสะดวกให้กับผู้เข้าสอบทุกวิถีทาง ทั้งนี้ตนได้เน้นย้ำด้วยว่าในการสอบแข่งขันผู้เข้าสอบจะต้องมีรายชื่อสมัครสอบเขตพื้นที่ฯ เดียวเท่านั้น หากพบว่าสมัครเกิดกว่า 1 เขตพื้นที่ฯจะเป็นผู้ที่ขาดคุณสมบัติในการสอบแข่งขันทันที
เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า การสอบครั้งนี้จะสอบข้อเขียน ภาค ก วันที่ 24 มิถุนายน ภาค ข วันที่ 25 มิถุนายน ซึ่งทุก อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ ได้ประสานกับมหาวิทยาลัยในการออกข้อสอบ ตรวจและประเมินผลการสอบเรียบร้อยแล้ว จากนั้นจะประกาศรายชื่อผู้สอบผ่านภาค ก และ ข ภายในวันที่ 3 กรกฎาคม สอบภาค ค ประเมินจากการสัมภาษณ์ แฟ้มสะสมงาน และการนำเสนอที่แสดงถึงทักษะและศักยภาพด้านการเรียนการสอน ตามวันและเวลาที่ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ หรือ อ.ก.ค.ศ.สศศ.กำหนด โดยกระบวนการคัดเลือกทั้งหมดจะต้องแล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคม
“ผมขอย้ำให้ทุกเขตพื้นที่ฯ ดำเนินการจัดสอบให้เป็นไปด้วยความโปร่งใส เป็นธรรม ไม่ให้เกิดปัญหาการทุจริต ส่วนผู้เข้าสอบก็ขอเตือน ว่า อย่าหลงเชื่อผู้ที่แอบอ้างว่าจะช่วยให้สามารถสอบแข่งขันได้ หากมีใครมาแอบอ้าง ขอให้แจ้งข้อมูลมาที่ผมได้โดยตรง เพื่อดำเนินการแก้ไขป้องกันเพราะไม่อยากให้มีเรื่องการทุจริตเกิดขึ้นในวงการศึกษา เนื่องจากคุณภาพการศึกษา จะเกิดขึ้นได้ต้องมีครูที่มีคุณภาพ เพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาให้ทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน หรือหากพบเห็นว่า หน่วยงานใด มีการดำเนินการที่ส่อว่าจะไม่มีความเป็นธรรม ก็ขอให้แจ้งมาได้เช่นเดียวกัน ”ดร.กล่าวและว่า ตนยังได้ย้ำให้เขตพื้นที่ฯ ดูแลเรื่องความปลอดภัยในโรงเรียน โดยขอให้ทุกภาคส่วน ทั้งผู้ปกครอง นักเรียน และครู ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้ามาช่วยดูแล เพื่อป้องกันการก่อเหตุที่ไม่พึงประสงค์ โดยในช่วง 3 เดือนแรกของการเปิดภาคเรียน ยังไม่อยากให้เน้นเรื่องวิชาการ แต่ขอให้เน้นกิจกรรมสร้างความผูกพันธ์ เพื่อให้นักเรียนมีความสุข ทั้งนี้ขอชื่นชมหลายเขตพื้นที่ฯ ที่ให้ความสำคัญ มีมาตรการป้องกันภัยต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นภัยที่เกิดจากการทำร้ายกัน หรือภัยที่เกิดจากธรรมชาติ เพื่อให้นักเรียนได้มาเรียนอย่างปลอดภัยและมีความสุข นอกจากนี้ยังขอย้ำว่า กิจกรรมเยี่ยมบ้านนักเรียน มีความสำคัญ โดยจะต้องเยี่ยมแบบเชิงลึก เพื่อให้เห็นถึงสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของเด็ก ดูความพร้อมในเรื่องร่างกายและจิต ใจรวมถึงเป้าหมายและทิศทางที่ผู้ปกครองอยากให้เด็กเติบโตไปเป็นอย่างไร เพื่อร่วมมือดำเนินการให้ได้ตามเป้าหมาย หรือช่วยกันแก้ไขปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก FOCUSNEWS วันที่ 19 มิถุนายน 2566