เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2566 นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยว่า ตนได้กำชับให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ทั่วประเทศ ดูแลเรื่องพฤติกรรมเด็ก ซึ่งมีความผิดเพี้ยนไปหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องการใช้ความรุนแรงที่เกิดขึ้นทั้ง ความรุนแรงที่เด็กกระทำกับตัวเอง และการความรุนแรงที่เด็กกระทำกับเพื่อนร่วมชั้นเรียน จนถึงขั้นมีการเสียชีวิต ซึ่งพบว่า มีปัญหาเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก ดังนั้น จึงขอให้ทางเขตพื้นที่ฯ ไปถอดบทเรียนจากปัญหาดังกล่าว โดยเฉพาะการจัดการเรียนการสอนหลังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ซึ่งอาจจะต้องมีการปรับรูปแบบโดยการให้เน้นกิจกรรมความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนกับเพื่อนก่อนในช่วงแรก เพื่อให้เกิดความผูกพันธ์รักใคร่ เกิดความเป็นพี่น้อง เพราะมองว่า การเน้นเรียนวิชาการทันทีที่เปิดภาคเรียนอาจไม่เหมาะสมกับบริบทการเรียนหลังโควิด-19 ที่ไม่ได้พบกันมา
“หลังเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2566 ไปได้ระยะหนึ่งพบว่า มีปัญหาความรุนแรงเกิดขึ้นกับเด็กทั้งในและนอกโรงเรียนจำนวนมาก และมีสถานการณ์เพิ่มมากขึ้นจากเดิม ก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ซึ่งก่อนหน้านั้นก็มีความรุนแรงเกิดขึ้นบ้าง แต่ก็ไม่ได้ถึงขั้นเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตมากเท่าปัจจุบัน ส่วนจะเกิดมากขึ้นเพราะสาเหตุใดนั้น ยังไม่สามารถตอบได้ชัดเจน โดยต้องวิเคราะห์และแก้ปัญหาเป็นรายบุคคล เรื่องนี้ต้องวางแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกับหน่วยงานด้านสาธารณสุข กรมสุขภาพจิต เพื่อให้ครอบคุมและสามารถดำเนินการได้ตรงจุด” นายอัมพร กล่าว
นายอัมพร กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกัน เมื่อเร็วๆ นี้ นายสุรินทร์ มั่นประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลและนิติการ (สพร.) สพฐ.ได้รายงานผลการเปิดรับสมัครสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย ตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม ถึงวันที่ 6 มิถุนายน โดยสรุปมียอดผู้สมัครทั้งหมด 172,026 ราย ใน 205 เขตพื้นที่ฯ 63 กลุ่มวิชา อัตราว่างที่สามารถบรรจุแต่งตั้งได้ จำนวน 7,813 อัตรา โดยมีเขตพื้นที่ฯ ที่ไม่เปิดรับสมัครสอบ 41 แห่ง ภาพรวมการรับสมัครเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ส่วนปัญหาจากระบบการรับสมัคร ซึ่งกำหนด คำว่ากลุ่มวิชาเอก หรือทาง หรือสาขาวิชาเอก ทำให้บางเขตพื้นที่ฯ ที่เปิดรับสมัครมีการตีความที่แตกต่างกันนั้น ก็ทราบว่าได้มีการแก้ไขเรียบร้อยแล้ว
อย่างไรก็ตาม กรณีดังกล่าวปัญหาไม่ได้อยู่ที่หน่วยงานที่รับสมัคร แต่อยู่ที่มหาวิทยาลัยที่ผู้สมัครจบการศึกษาไม่ได้ส่งหลักสูตรให้กับสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) รับรอง จึงทำให้เมื่อมีการตรวจสอบเอกสารการรับสมัคร พบว่า กลุ่มวิชาเอก หรือสาขาวิชาเอก ที่สมัครไม่ตรงกับที่ ก.ค.ศ.รับรอง ทำให้ขาดคุณสมบัติการสมัคร ดังนั้น เรื่องนี้จึงขึ้นอยู่กับมหาวิทยาลัยต้นสังกัด ซึ่งก็ได้ให้คำแนะนำไปว่า ควรส่งหลักสูตรให้สำนักงาน ก.ค.ศ.รับรองก่อนการสมัครผู้เรียน ส่วนรอบนี้ ก็คิดว่าผู้สมัครจะได้สิทธิสอบทุกคน เพราะทราบว่า ทางสำนักงาน ก.ค.ศ.ได้ประชุมเฉพาะกิจเพื่อรับรองหลักสูตรให้เรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ตาม สำหรับการจัดสอบในวันที่ 24 - 25 มิถุนายน นี้ ตนได้ย้ำให้เขตพื้นที่ฯ ดำเนินการจัดสอบ ให้มีความเป็นธรรมาภิบาล โปร่งใส ไม่ให้มีปัญหาเรื่องการทุจริต
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก แนวหน้า วันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2566