ถือได้ว่าเป็นประเพณีดีงามซึ่งมีหลายอย่าง หลายแบบไม่เหมือนกัน เช่นครูทางช่างทำอย่างหนึ่ง ทางโขนละครทำอีกอย่างหนึ่ง และทางอักขระสมัยก็มีพิธีไปอีกอย่างหนึ่งเป็นต้น
แต่พิธีไหว้ครูทุกประเภทจะทำในวันพฤหัสบดีเหมือนกันหมด โดยยึดถือกันมาแต่ครั้งโบราณตามตำนานคติพราหมณ์คือ เทพเจ้าพฤหัสบดี เป็นอาจารย์ของพระอินทร์ และเทวดาองค์อื่นๆ อีกเป็นอันมาก ถือกันว่าพระพฤหัสบดีเป็นต้นตระกูลของครูผู้ให้กำเนิดวิชาการต่างๆ และด้วยเหตุนี้เองจึงใช้วันพฤหัสบดีเป็นวันทำพิธีไหว้ครูมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์จนถึงทุกวันนี้
ธรรมเนียมการไหว้ครูของไทยนั้นอาจเริ่มตั้งแต่ภิกษุสงฆ์มีศิษย์วัดซึ่งไม่ทราบว่าตั้งแต่เมื่อใด เพราะ
1. คนไทยนับถือพระพุทธศาสนา (เป็นส่วนมาก) ภิกษุสงฆ์เป็นผู้สืบศาสนาสั่งสอนชาวไทยให้รู้ธรรมะรู้บุญรู้บาปปฏิบัติตนอยู่ในธรรมะของพระพุทธเจ้า ซึ่งคนไทยก็ได้น้อมนำเข้ามาเป็นหลักดำเนินชีวิตอย่างอยู่เย็นเป็นสุข คนไทยจึงกราบไหว้พระภิกษุสงฆ์ด้วยความเคารพ และวัดก็เป็นศูนย์กลางของหมู่บ้าน เป็นที่พึ่งของชาวบ้านมาก่อน
2. เมื่อพระภิกษุสงฆ์ได้เป็นครูสอนหนังสือแก่เด็ก (ชาย) ไทย เพราะเป็นผู้เรียนรู้ทั้งทางโลกและทางธรรม รู้ภาษาบาลี ขอม ไทย พ่อแม่คนไทยฝากลูก (ชาย) เป็นศิษย์ของพระภิกษุสงฆ์ ให้ได้เรียนทั้งหนังสือ กิริยา มารยาท การประกอบอาชีพ ฯลฯ สอนให้กุลบุตรได้บวชเรียนตามประเพณี สงฆ์จึงทรงคุณแก่ชาวบ้านเป็นอเนกประการ ธรรมเนียมไหว้ครูจึงเป็นประเพณีที่คนไทยยึดมั่น จะประกอบงานอาชีพใดก็ต้องไหว้ครู ขึ้นครู ซึ่งเป็นการรำลึกพระคุณของผู้มีพระคุณแฝงอยู่ในตัวพิธีไหว้ครู (คือสอนให้มีกตัญญูกตเวทีประจำใจ)
การไหว้ครูของสถานศึกษานั้น แต่เดิมกระทำในตอนแรกเริ่มเข้าเรียนหนังสือวันแรก แต่การไหว้ครูเป็นแบบพิธีอย่างจริงจังนั้นคาดหมายว่า คงจะเริ่มเมื่อมีการตั้งโรงเรียนขึ้นแล้ว และสันนิษฐานว่า คงจะเริ่มเมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงผนวชและเสด็จจำพรรษา ณ วัดนิเวศน์ธรรมประวัติ สวดคำนมัสการ คุณานุคุณ ดังที่ทรงเล่าไว้ในหนังสือ “ประวัติอาจารย์” ดังนี้
“…มีการอย่างหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นที่โรงเรียนวัดนิเวศน์ฯ เมื่อปีข้าพเจ้าบวชแล้วจึงแพร่หลายไปถึงโรงเรียนทั้งปวง คือ ที่ให้นักเรียนสวดคำนมัสการคุณานุคุณ ข้าพเจ้าไปสังเกตเห็นว่า ในโรงเรียนยังขาดสอนคติธรรม แต่จะให้เทศน์ให้ เด็กฟังก็ไม่เข้าใจ เห็นว่าถ้าแต่งเป็นคำกลอนให้เด็กท่องสวดจะดีกว่า ข้าพเจ้าบอกความที่ปรารภไปยังพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ขอให้ท่านช่วยแต่งคํานมัสการส่งขึ้นไปให้
ท่านก็แต่งให้ตามประสงค์ เป็นคำนมัสการ 7 บท ขึ้นด้วยบทบาลีแล้วมีกาพย์กลอน เป็นภาษาไทยทุกบท 1 นมัสการพระพุทธเจ้าขึ้นต้นว่า “องค์ใดพระสัมพุทธ สุวิสุทธสันดาม” เป็นต้น บท 1 นมัสการพระธรรมเจ้าบท ๑ นมัสการพระสงฆ์เจ้าบท 1 สามบทนี้ให้เด็กสวดเมื่อเริ่มเรียนตอนเช้า มีคําบูชาคุณบิดามารดาบท 1 บูชาคุณครูบท 1 สําหรับให้สวดเมื่อเริ่มเรียนตอนบ่ายและมีคําบูชาพระคุณพระมหากษัตริย์บท 1 คำขอพรเทวตาบท 1 สําหรับใช้สวดเมื่อจะเลิกเรียน…..”
การสวดนมัสการคุณานุคุณนั้น ต่อมาได้เป็นคําสวดเนื่องในพิธีไหว้ครูตามโรงเรียนต่าง ๆ จนถึงปัจจุบัน
ตามหลักฐานของทางราชการพบว่า หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล อธิบดีกรมสามัญศึกษาในขณะนั้นได้มีหนังสือที่ 15943/2486 ลงวันที่ 17 พฤษภาคม 2486 ถึงคณะกรรมการจังหวัดทุกจังหวัดแจ้งเรื่องแบบพิธีไหว้ครู ความว่า ดังนี้
“เพื่อให้การกระทําพิธีไหว้ครูในโรงเรียนต่างๆ ได้เป็นไปในระเบียบเดียวกันจึงได้วางแบบพิธีไหว้ครู ดังได้ส่งมาพร้อมหนังสือนี้ ทั้งนี้ให้โรงเรียนถือปฏิบัติโดยอนุโลมสิ่งใดที่ไม่สามารถจะจัดได้ก็ให้ยกเว้นได้ และให้เริ่มปฏิบัติตั้งแต่ภาคต้น ปีการศึกษา 2486 เป็นต้นไป เฉพาะภาคต้นศกนี้ ให้จัดการประกอบพิธีไหว้ครูในวันพฤหัสบดีที่ 28 พฤษภาคม 2486 ในตอนเช้าทุกโรงเรียน”
สาระสําคัญตอนหนึ่งของแบบพิธีไหว้ครู มีข้อกําหนดประการหนึ่งว่า..
หญ้าแพรกและดอกมะเขือเป็นวัตถุมงคล และเป็นปริศนาสอนใจ ดังนี้
เป็นสัญลักษณ์แห่งการอดทน คือ ทนต่อแดด ทนต่อการเหยียบย่ำ เป็นบทเรียนสอนให้ศิษย์เอาอย่าง ให้มีความอดทนในการเรียน ให้อดทนต่อความยากลําบากไม่ท้อถอย
นอกจากนั้น หญ้าแพรกยังหมายถึง ความงอกงามแตกกอแตกใบได้ง่าย มีลักษณะราบเรียบไปตามพื้นดิน เสมือนปัญญางอกงาม และมีจิตใจสุภาพอ่อนน้อม ครูอาจารย์จะดุด่าเฆี่ยนตี (แบบครูสมัยโบราณ) ก็อดทนได้ด้วยความเคารพ
เป็นสัญลักษณ์แห่งความเคารพนอบน้อมและกตัญญูกตเวที อันเนื่องมาจากดอกมะเขือทุกดอกจะมีลักษณะพิเศษแตกต่างจากดอกไม้ทั่วไปอยู่อย่างหนึ่ง คือ จะชูกลีบดอกลงเบื้องล่าง จะไม่ชูกลีบดอกขึ้นเบื้องบนเหมือนดอกไม้อื่น ๆ คล้ายกับจะบอกว่า ตัวข้านี้เกิดมาจากดินและจากปุ๋ยอันสกปรก แต่ตัวข้าไม่ลืมดิน ไม่ลืมปุ๋ย นับเป็นบทเรียนที่ศิษย์ควรถือเป็นแบบอย่าง ไม่ควรลืมอุปการคุณของครูอาจารย์ ควรเคารพนบนอบและกตัญญูกตเวทีต่อครูอาจารย์ตลอดไป
สําหรับ เป็นสัญลักษณ์แห่งการมีปัญญาแหลมคม เป็นความเชื่อถือแต่เดิมที่นิยมใช้กันทั่ว ๆ ไปนั้น ไม่ได้กําหนดไว้ในแบบพิธีไหว้ครู เนื่องจากในบางท้องที่หาดอกเข็มได้ยากมาก ดังนั้น เพื่อความสะดวกจึงสุดแท้แต่ท้องถิ่นนั้น ๆ ถ้าหากมีจะใช้ดอกเข็มด้วยก็ได้
ขอบคุณที่มาจาก ศิลปวัฒนธรรม