ดร.นันทา หงวนตัด รักษาการผู้อำนวยการ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(สมศ.)เปิดเผยถึงแนวทางการพัฒนาระบบการประกันคุณภาพการศึกษาให้สอดคล้องกับระบบประกันคุณภาพภายในของสถานศึกษาว่า ที่ผ่านมาพบปัญหา 3 ประการ คือ1) สถานศึกษาบางส่วนไม่มีแรงจูงใจในการนำผลการประเมินไปใช้ ซึ่งปัจจุบัน สมศ.ได้นำโครงการส่งเสริมการนำผลประเมินไปใช้เพื่อพัฒนาคุณภาพสถานศึกษาเพื่อส่งเสริมให้สถานศึกษาหลังจากเข้ารับการประเมินแล้วสามารถนำผลการประเมินคุณภาพภายนอกและข้อเสนอแนะไปพัฒนาต่อให้เป็นรูปธรรม โดยดำเนินการร่วมกับสถาบันอุดมศึกษา 27 แห่งทั่วประเทศและผู้ทรงคุณวุฒิกว่า 700 คนที่ขึ้นทะเบียนไว้ร่วมให้คำปรึกษาแนะแนวทางการดำเนินงานให้แก่สถานศึกษาตามความต้องการของสถานศึกษา โดยมุ่งหวังให้เกิดการพัฒนาและต่อยอดศักยภาพการศึกษาไทย ภายใต้แนวคิด “ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมพัฒนา”
2) ระบบการประกันคุณภาพภายในของสถานศึกษาบางแห่งยังไม่ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องแต่เป็นการดำเนินการเป็นครั้งคราวเพื่อรองรับการประเมินคุณภาพภายนอกจาก สมศ. เท่านั้นจึงทำให้สถานศึกษาบางแห่งมองว่าการประเมินของ สมศ. เป็นภาระ3) สถานศึกษาหลายแห่งที่ได้รับข้อเสนอแนะจาก สมศ. แม้จะนำไปปรับใช้กับการทำงาน แต่ไม่ได้นำไปกำหนดไว้ในแผนของสถานศึกษาเพื่อเป็นเป้าหมายการดำเนินงาน ซึ่งจากผลการวิจัยของ สมศ.พบว่า สถานศึกษามากกว่าร้อยละ 50 มีการนำผลการประเมินของ สมศ.ไปใช้วางแผนหรือปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานต่างๆ แต่พบว่ามีสถานศึกษาเพียง ร้อยละ 20 ที่นำผลการประเมินไปใช้ในการกำหนดเป้าหมายในแผนพัฒนาส่งผลให้การพัฒนาคุณภาพไม่เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
ที่ผ่านมา การนำผลการประเมินไปปรับใช้เพื่อพัฒนาสถานศึกษายังไม่เป็นรูปธรรมเท่าที่ควรสถานศึกษาบางส่วนยังไม่มีการนำไปปรับใช้อย่างจริงจัง ดังนั้น เกณฑ์การประเมินรอบใหม่ในปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ของ สมศ.จึงมีการเพิ่มเติมเรื่องการนำผลการประเมินคุณภาพภายนอกที่ผ่านมาของสถานศึกษาแต่ละแห่งมาพิจารณาร่วมด้วย โดยสถานศึกษาต้องนำผลการประเมินที่ผ่านมาไปปรับปรุง พัฒนาสถานศึกษาตามข้อเสนอแนะจากสมศ. ให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น และการดำเนินงานต้องเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เกี่ยวข้องเข้ามีส่วนร่วมมากขึ้น อาทิ กรรมการสถานศึกษา ผู้ปกครอง หรือชุมชน เป็นต้น
เพื่อเป็นการร่วมมือร่วมใจกันต่อยอดพัฒนาให้การดำเนินงานของสถานศึกษาบรรลุเป้าประสงค์ในที่สุด ดร.นันทา กล่าวทั้งนี้ สมศ. ยังคงให้ความสำคัญกับการประเมินคุณภาพภายนอกเพื่อการพัฒนาและยกระดับคุณภาพสถานศึกษาโดยแนวทางการประเมินคุณภาพภายนอกปีงบประมาณ พ.ศ. 2567จะกำหนดวิธีการประเมินคุณภาพภายนอกที่เหมาะสมสอดคล้องกับบริบทของสถานศึกษาทั้งในส่วนของวิธีการและจำนวนวันประเมิน แตกต่างกันตามบริบทสถานศึกษารวมทั้งเน้นการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้สนับสนุนการประเมินตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการตลอดจนการนำข้อมูลสารสนเทศไปใช้ในการบริหารจัดการ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพพร้อมสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานต้นสังกัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเน้นการพิจารณาจากการดำเนินงานของสถานศึกษาที่เกิดขึ้นจริงโดยไม่ต้องจัดทำข้อมูลหลักฐานเพื่อรองรับการประเมินคุณภาพภายนอกของ สมศ.ทั้งนี้เพื่อเป็นการลดภาระของสถานศึกษาให้มากที่สุด
อย่างไรก็ดี สำหรับผลการประเมินสถานศึกษา โดยตั้งแต่ช่วงเดือน ต.ค. 65 ซึ่งปีงบประมาณ พ.ศ. 2566จะเป็นปีสุดท้ายของการประเมินคุณภาพภายนอกภายใต้กรอบแนวทาง รูปแบบ และวิธีการประกันคุณภาพภายนอกภายใต้สถานการณ์จำเป็นและเร่งด่วนเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) จนถึงปัจจุบัน สมศ.ได้ดำเนินการประเมินสถานศึกษาไปแล้วจำนวน 8,283 แห่งคิดเป็นร้อยละ 62.54 จากเป้าหมายสถานศึกษาจำนวน 13,245 แห่ง และในขณะนี้ สมศ.อยู่ระหว่างการประเมินคุณภาพภายนอกสถานศึกษาที่เหลือ โดยคาดว่าจะประเมินแล้วเสร็จในช่วงเดือนกันยายน2566 นี้
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก ไทยโพสต์ วันที่ 31 พฤษภาคม 2566