ผลการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ 6/2566 วันจันทร์ที่ 29 พฤษภาคม 2566 โดยมีนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุม และมี รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการ ก.ค.ศ. เป็นเลขานุการการประชุม ซึ่งที่ประชุมได้มีการพิจารณาเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาและมีมติที่สำคัญ ดังนี้
สืบเนื่องจากที่สำนักงาน ป.ย.ป. ได้แจ้งว่าขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงหรือประกอบอาชีพในกฎหมายของบุคคลล้มละลาย พ.ศ. .... ซึ่งเป็นกฎหมายกลางตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2565 เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันสำหรับข้าราชการแต่ละประเภทมากกว่าการที่จะให้หน่วยงานต่าง ๆ ไปดำเนินการเสนอแก้ไขกฎหมายระดับพระราชบัญญัติเอง โดยสำนักงาน ป.ย.ป. ได้ขอความเห็นจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการดำเนินการแก้ไขกฎหมายเพื่อลดข้อจำกัดในการดำรงตำแหน่งหรือการประกอบอาชีพของบุคคลล้มละลายว่า สำนักงาน ป.ย.ป. จะดำเนินการแก้ไขกฎหมายหลายฉบับโดยกฎหมายฉบับเดียว (กฎหมายกลาง) จะเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร ซึ่ง ก.ค.ศ. ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า หากหน่วยงานผู้รับผิดชอบกฎหมายแต่ละฉบับทำการแก้ไขกฎหมายโดยเสนอร่างกฎหมายในความรับผิดชอบเอง อาจเกิดความไม่เป็นธรรมในการบังคับใช้กฎหมายแก่ข้าราชการแต่ละประเภท ดังนั้น จึงเห็นควรให้สำนักงาน ป.ย.ป.ดำเนินการแก้ไขกฎหมายหลายฉบับโดยกฎหมายฉบับเดียว (กฎหมายกลาง) ซึ่งข้อจำกัดดังกล่าวควรจำกัดเฉพาะไว้เฉพาะกรณีบุคคลล้มละลายทุจริตเท่านั้น สำหรับการดำเนินการปรับปรุง พรบ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติมนั้น สำนักงาน ก.ค.ศ. จะดำเนินการยกร่างโดยนำข้อจำกัดในการดำรงตำแหน่งหรือการประกอบอาชีพของบุคคลล้มละลายมาใช้ในการยกร่างด้วย
ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้ขออนุมัติยกเว้นหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย กรณีที่มีความจำเป็นหรือมีเหตุพิเศษ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกฯ ตำแหน่งครูผู้ช่วย กรณีที่มีความจำเป็นหรือมีเหตุพิเศษ (ว 16/2557) และหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกฯ ตำแหน่งครูผู้ช่วย ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ว 17/2557) สังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ ประจำปี พ.ศ. 2566 เนื่องจากผู้ที่มีคุณสมบัติในการสมัครเข้ารับการคัดเลือกกรณีดังกล่าวมีจำนวนน้อยเหตุเพราะติดเงื่อนไขระยะเวลาปฏิบัติหน้าที่สอนเป็นเวลา 3 ปี ประกอบกับมีภาระงานในหน้าที่มากกว่า เนื่องจากต้องดูแลเด็กพิการหรือเด็กด้อยโอกาสเพิ่มเติมจากการสอนแบบปกติ จึงขอลดเงื่อนไขระยะเวลาเพื่อให้มีผู้มีคุณสมบัติในการสมัครเข้ารับการคัดเลือกมากขึ้น และเพียงพอต่อความต้องการจำเป็นของสถานศึกษาและจำนวนตำแหน่งว่างที่เปิดรับสมัคร
ก.ค.ศ. ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าเพื่อให้สำนักงานบริหารการศึกษาพิเศษ สามารถคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตามหลักเกณฑ์และวิธีการฯ ว 16/2557 และ ว 17/2557 สามารถคัดเลือกผู้มีความรู้และประสบการณ์ในการดูแลนักเรียนที่มีคุณลักษณะพิเศษและมีความต้องการจำเป็นพิเศษตรงตามความต้องการของสถานศึกษา และเพื่อประโยชน์ในการจัดการเรียนการสอนที่ส่งผลต่อคุณภาพผู้เรียนทั้งด้านวิชาการและการดำรงชีวิต จึงกำหนดคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ฯ ว 16/2557 และ ว 17/2557 ว่า “ผู้ที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่งพนักงานราชการ ลูกจ้างประจำ ครูสอนศาสนาอิสลาม หรือวิทยากรอิสลามศึกษาตามประกาศแนวการดำเนินงานและการจัดการเรียนการสอนอิสลามศึกษาในสถานศึกษาตามที่ส่วนราชการกำหนด พนักงานจ้างเหมาบริการ ครูอัตราจ้าง หรือลูกจ้างชั่วคราวจากเงินงบประมาณหรือเงินรายได้ของสถานศึกษา ต้องมีประสบการณ์ในการปฏิบัติงานตามคุณลักษณะงานของผู้สอนตามรูปแบบการให้การศึกษาของสถานศึกษาในสังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ โดยมีภาระงานการสอนตามที่ส่วนราชการกำหนด ตามคำสั่งหรือสัญญาจ้างอย่างใดอย่างหนึ่งหรือรวมกันไม่น้อยกว่าสองปี นับถึงวันรับสมัครคัดเลือกวันสุดท้าย” เฉพาะการดำเนินการคัดเลือกในปี พ.ศ. 2566 เท่านั้น
สืบเนื่องจากพระราชบัญญัติส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2566 มีผลให้สำนักงานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย เปลี่ยนเป็น กรมส่งเสริมการเรียนรู้ เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2566 ประกอบกับมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 กำหนดให้ ก.ค.ศ. มีอำนาจในการตั้ง อ.ก.ค.ศ. เพื่อทำหน้าที่บริหารงานบุคคลสำหรับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในส่วนราชการได้ ซึ่ง ก.ค.ศ. เคยกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการได้มา วาระการดำรงตำแหน่งและการพ้นจากตำแหน่งของอนุกรรมการใน อ.ก.ค.ศ. ที่ ก.ค.ศ. ตั้ง ในส่วนราชการ พ.ศ. 2560 ไว้แล้ว เพื่อให้ส่วนราชการนำไปใช้ในการสรรหาและแต่งตั้งอนุกรรมการของ อ.ก.ค.ศ. ส่วนราชาการ ทุกส่วนราชการในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้แก่ อ.ก.ค.ศ. สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ อ.ก.ค.ศ.สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และ อ.ก.ค.ศ. สำนักบริหารการศึกษาพิเศษ
ก.ค.ศ. พิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อให้การบริหารงานบุคคลสำหรับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาของกรมส่งเสริมการเรียนรู้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและเป็นมาตรฐานเดียวกันกับส่วนราชการอื่นในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ จึงเห็นควรตั้ง อ.ก.ค.ศ. กรมส่งเสริมการเรียนรู้ เพื่อทำหน้าที่บริหารงานบุคคลสำหรับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในกรมส่งเสริมการเรียนรู้ โดยมอบหมายให้สำนักงาน ก.ค.ศ. และกรมส่งเสริมการเรียนรู้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการได้มา วาระการดำรงตำแหน่งและการพ้นจากตำแหน่งของอนุกรรมการในอ.ก.ค.ศ. ที่ ก.ค.ศ. ตั้ง ในส่วนราชการ พ.ศ. 2560 ตามหนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ. ด่วนที่สุด ที่ ศธ 0206.6/533 ลงวันที่ 6 กรกฎาคม 2560
ที่มา สำนักงาน ก.ค.ศ.