เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2566 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการคุรุสภา ครั้งที่ 5/2566 ว่า สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา เสนอคณะกรรมการคุรุสภาเพื่อทราบอนุมัติการดำเนินงานหลักสูตรอบรมตามมาตรฐานความรู้วิชาชีพครู สำหรับผู้ได้รับยกเว้นไม่ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพควบคุมเป็นการชั่วคราว ให้มีมาตรฐานความรู้วิชาชีพ เพื่อเป็นคุณสมบัติในการขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู (ชาวไทยและชาวต่างชาติ) ตามแนวทางการดำเนินงานพัฒนาผู้ได้รับการยกเว้นไม่ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพควบคุมเป็นการชั่วคราว ให้มีมาตรฐานความรู้วิชาชีพเพื่อเป็นคุณสมบัติในการขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู (ชาวไทยและชาวต่างชาติ) จำนวน 7 โมดูล (Module) ตามที่คณะกรรมการคุรุสภาเห็นชอบในหลักการในการประชุมครั้งที่ 8/2565 เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2565 และรับทราบความก้าวหน้า ในการประชุมครั้งที่ 2/2566 เมื่อวันพุธที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า สำนักงานเลขาธิการคุรุสภาได้ออกข้อบังคับคุรุสภา ว่าด้วยการรับรองความรู้และประสบการณ์วิชาชีพ เพื่อการประกอบวิชาชีพทางการศึกษา พ.ศ. 2550 ประกาศคณะกรรมการคุรุสภา เรื่อง บุคคลผู้ได้รับยกเว้นไม่ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพควบคุมเป็นการชั่วคราว พ.ศ. 2558 ประกาศคณะกรรมการคุรุสภา เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะกรรมการคุรุสภา เรื่อง บุคคลผู้ได้รับยกเว้นไม่ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพควบคุมเป็นการชั่วคราว พ.ศ. 2558 ข้อบังคับคุรุสภา ว่าด้วยมาตรฐานวิชาชีพ พ.ศ. 2556 ข้อบังคับคุรุสภาว่าด้วยมาตรฐานวิชาชีพ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2562 ประกาศคณะกรรมการคุรุสภา เรื่อง รายละเอียดความรู้และประสบการณ์วิชาชีพครู ตามข้อบังคับคุรุสภา ว่าด้วยมาตรฐานวิชาชีพ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2562 และข้อบังคับคุรุสภา ว่าด้วยการรับรองความรู้และประสบการณ์วิชาชีพ เพื่อการประกอบวิชาชีพทางการศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2565 ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2558 ได้มีการผ่อนผันให้บุคคลที่ไม่มีปริญญาทางการศึกษาได้รับยกเว้นไม่ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพควบคุมเป็นการชั่วคราวโดยผ่อนผันให้ครั้งละ 2 ปี และให้พัฒนาตนเองให้มีความรู้ตามมาตรฐานวิชาชีพ
ปัจจุบันมีบุคคลได้รับการผ่อนผันให้ประกอบวิชาชีพครูโดยไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ได้ปฏิบัติการสอนในสถานศึกษา ในระดับการศึกษาปฐมวัย ขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษา หรืออุดมศึกษาที่ต่ำกว่าปริญญา ทั้งของรัฐและเอกชนมามากกว่า 54,484 คน เป็นชาวไทย 33,473 คน ชาวต่างชาติ 20,511 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้ที่ขอผ่อนผันมากกว่า 5 ปี ขึ้นไป จำนวน 4,750 คน เป็นชาวไทย 5,140 คน ชาวต่างชาติ 3,650 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2565) ซึ่งบุคคลกลุ่มนี้ยังไม่สามารถพัฒนาตนเองให้มีคุณสมบัติตามมาตรฐานวิชาชีพครูที่คุรุสภากำหนดได้ เนื่องจากมีข้อจำกัด ในด้านโอกาสและการเข้าถึงการพัฒนา
สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา โดยสถาบันคุรุพัฒนาจึงได้จัดทำกรอบแนวคิดและมาตรฐาน จำนวน 7 โมดูล (Module) ดังนี้
โมดูล (Module) 1 การเปลี่ยนแปลงบริบทของโลก สังคม และแนวคิดของ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
โมดูล (Module) 2 จิตวิทยาพัฒนาการ จิตวิทยาการศึกษา และจิตวิทยา ให้คําปรึกษาในการวิเคราะห์และพัฒนาผู้เรียนตามศักยภาพ
โมดูล (Module) 3 เนื้อหาวิชาที่สอน หลักสูตร ศาสตร์การสอน และเทคโนโลยีดิจิทัล ในการจัดการเรียนรู้
โมดูล (Module) 4 การวัด ประเมินผลการเรียนรู้ และการวิจัยเพื่อแก้ปัญหา และพัฒนาผู้เรียน
โมดูล (Module) 5 การใช้ภาษาไทย ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารและการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อการศึกษา
โมดูล (Module) 6 การออกแบบและการดำเนินการเกี่ยวกับงานประกันคุณภาพการศึกษา
โมดูล (Module) 7 จิตวิญญาณความเป็นครู และจรรยาบรรณของวิชาชีพ
ทั้งนี้ ได้นำกรอบแนวคิดดังกล่าวไปเป็นแนวทางในการพัฒนาหลักสูตร ฝึกอบรมที่มีมาตรฐานมีรูปแบบการเรียนรู้และการวัดและประเมินผลที่หลากหลาย ทันสมัย และสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงโดยมีหลักการ ดังนี้
- เป็นหลักสูตรอบรมฐานสมรรถนะ (ความรู้ ทักษะ คุณลักษณะ)
- เนื้อหาสาระครอบคลุมมาตรฐานความรู้ตามประกาศคณะกรรมการคุรุสภา เรื่อง รายละเอียดความรู้และประสบการณ์วิชาชีพครู ตามข้อบังคับคุรุสภา ว่าด้วยมาตรฐานวิชาชีพ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2562
- มีรูปแบบการจัดการเรียนรู้ และสื่อการเรียนรู้ที่หลากหลาย เหมาะสมกับผู้เข้ารับการอบรมที่มีประสบการณ์สอนมาแล้ว อาทิ บรรยาย อภิปราย ระดมสมอง ประชุมเชิงปฏิบัติการฝึกปฏิบัติ เป็นต้น
- ระยะเวลาอบรมแต่ละมาตรฐานความรู้ไม่น้อยกว่า 60 ชั่วโมง
- มีวิธีการวัดและประเมินผลที่หลากหลาย เหมาะสม และวัดได้ตรงกับสมรรถนะที่กำหนด
- กําหนดเกณฑ์การเข้าอบรมไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 และผ่านการประเมินสมรรถนะ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 60
สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา โดยสถาบันคุรุพัฒนาได้เสนอความก้าวหน้าการดำเนินงานพัฒนาผู้ได้รับยกเว้นไม่ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพควบคุมเป็นการชั่วคราว ให้มีมาตรฐานความรู้วิชาชีพ เพื่อเป็นคุณสมบัติในการขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู (ชาวไทยและชาวต่างชาติ) โดย เปิดรับแจ้งความประสงค์เข้ารับการอบรม และ/หรือเทียบประสบการณ์การทำงาน หลักสูตรอบรมมาตรฐานความรู้วิชาชีพครู สำหรับ (ชาวไทยและชาวต่างชาติ) จำนวน 7 โมดูล (Module) เดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคม 2566 เปิดให้ผู้แจ้งความประสงค์อบรมฯ และ/หรือ เทียบประสบการณ์ทำงาน ชำระค่าลงทะเบียนและเลือกรุ่นการอบรมฯ เดือนพฤษภาคม 2566 และเปิดอบรมทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ และดำเนินการเทียบประสบการณ์การทำงาน เดือนกันยายน 2566 – มีนาคม 2567 ซึ่งจากการเปิดรับแจ้งความประสงค์เข้ารับการอบรม และ/หรือ เทียบประสบการณ์ทำงาน หลักสูตรอบรมมาตรฐานความรู้วิชาชีพครูสำหรับ (ชาวไทยและชาวต่างชาติ) จำนวน 7 โมดูล (Module) เมื่อวันที่ 1 – 31 มีนาคม 2566 มีจำนวนผู้แจ้งความประสงค์ทั้งหมด จำนวน 5,814 คน จำแนกเป็น ชาวไทย จำนวน 3,340 คน และชาวต่างชาติ จำนวน 2,474 คน
สำหรับแนวทางการดำเนินงานมีดังนี้
- ให้ผู้ได้รับการยกเว้นไม่ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพควบคุมเป็นการชั่วคราวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เลือกเข้ารับการพัฒนาในหลักสูตรมาตรฐานความรู้วิชาชีพครูได้อีกช่องทางหนึ่ง เมื่อผ่านการพัฒนาตามหลักสูตรที่กำหนด จะเป็นผู้มีคุณสมับติในการขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู
- หลักสูตรมาตรฐานความรู้วิชาชีพครู สำหรับผู้ได้รับการยกเว้นไม่ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพควบคุมเป็นการชั่วคราว ให้มีมาตรฐานความรู้วิชาชีพ เพื่อเป็นคุณสมบัติในการขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู (ชาวไทยและชาวต่างชาติ) ประกอบด้วย 7 โมดูล (Module) ตามมาตรฐานและจรรยาบรรณของวิชาชีพ
- ผู้ได้รับยกเว้นไม่ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพควบคุมเป็นการชั่วคราว ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ สามารถเลือกเข้ารับการพัฒนาในหลักสูตรมาตรฐานความรู้วิชาชีพครูได้ 2 รูปแบบ ทั้งการเข้ารับการอบรม และการเทียบประสบการณ์ทำงานโดยในหนึ่งโมดูล (Module) ต้องเลือกรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง
แต่ทั้ง 7 โมดูล (Module) สามารถเลือกได้ทั้งสองรูปแบบ ซึ่งกำหนดเกณฑ์การผ่านการอบรมในหลักสูตรต้องผ่านทุกโมดูล (Module) ดังนี้
รูปแบบที่ 1 เข้ารับการอบรมในหลักสูตรอบรมมาตรฐานความรู้วิชาชีพครูสำหรับผู้ได้รับยกเว้น
ไม่ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพควบคุมเป็นการชั่วคราว ให้มีมาตรฐานความรู้วิชาชีพเพื่อเป็นคุณสมบัติ
ในการขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู (ชาวไทยและชาวต่างชาติ) เป็นการอบรมผ่านแพลตฟอร์มการเรียนรู้ออนไลน์ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ มีจำนวนชั่วโมงรวม 420 ชั่วโมง จำนวน 7 โมดูล (Module) โดยในแต่ละโมดูลกำหนดภาคทฤษฎี จำนวน 48 ชั่วโมง และสัมมนา 12 ชั่วโมง
รูปแบบที่ 2 เข้ารับการเทียบประสบการณ์ทำงาน เป็นการเทียบประสบการณ์ทำงานโดยไม่ต้องเข้ารับการอบรม ซึ่งจะดำเนินการผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยผู้ขอเทียบสามารถนำหลักฐานเอกสารและ/หรือดำเนินการอื่น ๆ ตามที่กำหนดในแต่ละโมดูล (Module) ดังนี้
- มีคุณวุฒิไม่ต่ำกว่าระดับปริญญาตรี หรือเทียบเท่าของสถาบันการศึกษาที่มีหลักฐานผ่านการรับรองของหน่วยงานที่เชื่อถือได้ หรือปรากฏข้อมูลชื่อสถาบันระบุในหนังสือ The World of ALMANAC (กรณีจบจากสถาบันการศึกษาต่างประเทศ) ที่มีรายวิชาที่ตรง / สัมพันธ์ / เกี่ยวข้อง ตามหลักสูตรอบรมมาตรฐานความรู้วิชาชีพครู โดยแสดงเอกสาร / หลักฐานใบรับรองผลการเรียน
- มีประสบการณ์การจัดโครงการที่เกี่ยวข้องมาต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 3 ปี ที่ตรง / สัมพันธ์ / เกี่ยวข้อง ตามหลักสูตรอบรมมาตรฐานความรู้วิชาชีพครู โดยแสดงเอกสาร/หลักฐาน ร่องรอยการทำโครงงาน ภาพถ่ายและผลลัพธ์การจัดในระยะเวลา 3 ปีต่อเนื่อง และผู้บริหารสถานศึกษารับรอง
โดยผู้เข้ารับการอบรมและ/หรือ เทียบประสบการณ์ทำงานในหลักสูตรมาตรฐานความรู้วิชาชีพครูที่มีผล “ผ่าน” ครบทั้ง 7 โมดูล (Module) แล้วจึงดำเนินการยื่นขอรับรองความรู้วิชาชีพทางการศึกษาได้
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก FOCUSNEWS วันที่ 29 พฤษภาคม 2566