เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2566 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ(ศธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ว่า ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการ การยกเว้นหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย กรณีที่มีความจำเป็นหรือมีเหตุพิเศษ (ว16) สังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ(สศศ.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ประจำปี 2566 และในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ว 17) สังกัด สศศ. เนื่องจากผู้ที่มีคุณสมบัติในการสมัครเข้ารับการคัดเลือกกรณีดังกล่าวมีจำนวนน้อย เพราะติดเงื่อนไขคุณสมบัติผู้สมัคร ที่ต้องปฏิบัติหน้าที่สอนเป็นเวลา 3 ปี ประกอบกับมีภาระงานในหน้าที่มากกว่า เนื่องจากต้องดูแลเด็กพิการหรือเด็กด้อยโอกาสเพิ่มเติมจากการสอนแบบปกติ จึงขอลดเงื่อนไขระยะเวลาเพื่อให้มีผู้มีคุณสมบัติในการสมัครเข้ารับการคัดเลือกมากขึ้น จากเดิมต้องปฏิบัติหน้าที่สอน 3 ปี เหลือเพียง 2 ปี เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของสถานศึกษาและจำนวนตำแหน่งว่างที่เปิดรับสมัคร
“ก.ค.ศ. ได้พิจารณาถึงความจำเป็นจึงเห็นชอบยกเว้นเรื่องดังกล่าว ในส่วนของเงื่อนไขระยะเวลาการปฏิบัติหน้าที่สอนของผู้สมัคร จากเดิม 3 ปี มาเป็นต้องมีประสบการณ์ ในการปฏิบัติงานตามคุณลักษณะงานของผู้สอนตามรูปแบบการให้การศึกษาของสถานศึกษาในสังกัด สศศ. โดยมีภาระงานการสอนตามที่ส่วนราชการกำหนด ตามคำสั่งหรือสัญญาจ้างอย่างใดอย่างหนึ่งหรือรวมกันไม่น้อยกว่า 2 ปี นับถึงวันรับสมัครคัดเลือกวันสุดท้าย โดนการยกเว้นครั้งนี้ ใช้เฉพาะการดำเนินการคัดเลือกในปี 2566 เท่านั้น”น.ส.ตรีนุช กล่าวและว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังเห็นชอบการตั้ง คณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(อ.ก.ค.ศ. )กรมส่งเสริมการเรียนรู้(สกร.) ตามพ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 โดยมอบหมายให้สำนักงาน ก.ค.ศ. และ สกร.ดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการได้มา วาระการดำรงตำแหน่งและการพ้นจากตำแหน่งของอนุกรรมการใน อ.ก.ค.ศ. ที่ ก.ค.ศ.กำหนดต่อไป ที่ประชุมยังอนุมัติ ผู้ประเมินวิทยฐานะตามหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ว9/2564) หรือเกณฑ์ PA (Performance Agreement) เพิ่มอีกประมาณ6,000 ราย จากเดิมมีอยู่กว่า 10,000 ราย ส่งผลให้ขณะนี้มีผู้ประเมินเพิ่มขึ้นกว่า 15,000 ราย เชื่อว่า จากนี้กระบวนการประเมินจะมีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการก.ค.ศ. กล่าวว่า กรณีที่มีผู้ร้องเรียน ว่า การประเมินวิทยฐานะตาม ว9/2564 มีความล่าช้านั้น ยืนยันว่าการประเมินเป็นไปตามกระบวนการ ไม่ได้ล่าช้า โดยขณะนี้มีผู้ที่ผ่านการประเมินแล้ว 8,867 ราย ไม่ผ่านการประเมิน 1,100 ราย อยู่ระหว่างการประเมิน 12,760 ราย และจำนวนคำขอที่กำลังรอสุ่มกรรมการประเมินอยู่กว่า 780 ราย ซึ่งเมื่อมีการอนุมัติกรรมการประเมินเพิ่มขึ้นแล้ว ก็เชื่อว่าจะสามารถดำเนินการได้รวดเร็วมากขึ้น ส่วนที่เรียกร้องให้มีการปรับแก้หลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้ประเมินจากระบบสุ่ม มาเป็นการแต่งตั้งในรูปแบบเดิมนั้น เบื้องต้นคงจะยังไม่มีการปรับ เพราะการสุ่มเลือกกรรมการประเมินเป็นการป้องกันการทุจริต ระหว่างผู้เข้าประเมินและผู้ประเมินที่รู้จักกัน หากกลับไปใช้แบบเดิมก็จะวนกลับไปที่ปัญหาเก่า อย่างไรก็ตามที่เข้าใจว่าการประเมินล่าช้าอาจเป็นการประเมินกลุ่มขาดแคลน เช่น กลุ่มครูสอนภาษาต่างประเทศ ซึ่งกรรมการผู้ประเมินมีจำนวนน้อย ซึ่งอาจจะต้องรอ แต่ ก.ค.ศ.จะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคมนี้
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก FOCUSNEWS วันที่ 29 พฤษภาคม 2566