เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2566 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งสรุปสาระสำคัญเกี่ยวกับเรื่องการพิจารณาร่างกฎกระทรวงจัดตั้ง ยุบ รวม หรือเลิกสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. .... ดังนี้
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงจัดตั้ง ยุบ รวม หรือเลิกสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
ทั้งนี้ ร่างกฎกระทรวงตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการการจัดตั้ง รวม หรือเลิกสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2546 และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 19/2560 เรื่อง การปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ 3 เมษายน พุทธศักราช 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งกำหนดให้อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2546 เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการศึกษาธิการจังหวัดแทน ประกอบกับการเสนอร่างกฎกระทรวงในเรื่องนี้เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 8) และพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2564 และคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้มีมติเห็นชอบด้วยแล้ว
1. ยกเลิกระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการจัดตั้ง รวม หรือเลิกสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2550
2. กำหนดหลักเกณฑ์การจัดตั้ง ยุบ รวม หรือเลิกสถานศึกษา ดังนี้
2.1 การจัดตั้งสถานศึกษา มีหลักเกณฑ์ ดังนี้
(1) ระดับประถมศึกษาต้องมีนักเรียนในแต่ละชั้นเรียนไม่น้อยกว่า 25 คน ถ้าไม่เป็นไปตามเกณฑ์ให้จัดตั้งเป็นสาขาของสถานศึกษาอื่น
(2) ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและหรือระดับมัธยมศึกษาตอนปลายมีนักเรียนในแต่ละชั้นเรียนไม่น้อยกว่า 80 คน ถ้าไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ให้จัดตั้งเป็นสาขาของสถานศึกษาอื่น
(3) สถานที่จัดตั้งเป็นที่ดินที่มีหลักฐานอนุญาตให้ใช้ไม่น้อยกว่า 25 ไร่
(4) กรณีจัดตั้งขึ้นใหม่ต้องอยู่ห่างจากสถานศึกษาประเภทเดียวกันของรัฐ เอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ตั้งอยู่เดิมไม่น้อยกว่า 6 กิโลเมตร
(5) กรณีในท้องที่ชุมชนหนาแน่นหรือมีความจำเป็นพิเศษ หากไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาหรือสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเสนอคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดให้ความเห็นชอบการจัดตั้งสถานศึกษา ในท้องที่ดังกล่าว ทั้งนี้ ให้คำนึงถึงงบประมาณ ประสิทธิภาพ และคุณภาพของการจัดการศึกษา
(6) จัดทำแผนการคาดคะเนประชากรวัยเรียนไม่น้อยกว่า 3 ปีการศึกษาถัดไป จัดทำที่ตั้ง แผนผัง และชื่อสถานศึกษา หลักฐานการอนุญาตให้ใช้ที่ดิน หลักสูตรการเรียนการสอน การดำเนินการเกี่ยวกับบุคลากร และงบประมาณ
(7) ให้เสนอแผนการจัดตั้งฯ ต่อเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานให้ความเห็นเพื่อนำเสนอคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดประกอบการให้ความเห็นชอบ เมื่อเห็นชอบแล้ว ให้สำนักงานฯ ประกาศการจัดตั้งสถานศึกษานั้น ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งมติจากคณะกรรมการฯ และเผยแพรให้ประชาชนทราบโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์รวมถึงปิดประกาศไว้ในที่เปิดเผย ณ สำนักงาน พร้อมทั้งรายงานสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยเร็วเพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา
2.2 การยุบสถานศึกษา มีหลักเกณฑ์ ดังนี้
(1) ระดับประถมศึกษาที่มีนักเรียนในชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 น้อยกว่า 10 คน ติดต่อกันอย่างน้อย 3 ปีการศึกษา
(2) ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นที่มีนักเรียนในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 น้อยกว่า 10 คน ติดต่อกันอย่างน้อย 3 ปีการศึกษา หรือมีนักเรียนทั้งระดับน้อยกว่า 30 คน
(3) ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่มีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังนี้ (3.1) มีนักเรียนในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 น้อยกว่า 10 คน ติดต่อกันอย่างน้อย 3 ปีการศึกษา (3.2) มีนักเรียนชั้นใดชั้นหนึ่ง น้อยกว่า 10 คน (3.3) มีนักเรียนทั้งระดับ น้อยกว่า 40 คน (3.4) มีแผนชั้นเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น น้อยกว่า 3 ห้องเรียน
(4) กรณีในท้องที่ที่มีความจำเป็นพิเศษหากมีความจำเป็นอย่างอื่นให้สำนักงานฯ เสนอคณะกรรมการฯ พิจารณาให้ความเห็นชอบการยุบสถานศึกษาในท้องที่ดังกล่าว
(5) จัดทำแผนเกี่ยวกับบุคลากรเด็กนักเรียน จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้ปกครองนักเรียนและคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ทั้งนี้ การยุบสถานศึกษาให้ยุบทีละ 1 ชั้นเรียน เริ่มตั้งแต่ชั้นต้นของระดับ เว้นแต่มีเหตุผลความจำเป็นอาจยุบปีละเกินกว่า 1 ชั้นเรียน หรืออาจยุบทั้งระดับ
(6) ให้เสนอคณะกรรมการฯ พิจารณาให้ความเห็นชอบการยุบสถานศึกษา เมื่อเห็นชอบแล้ว ให้ประกาศภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งมติจากคณะกรรมการฯ และให้เผยแพร่ให้ประชาชนทราบโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงปิดประกาศไว้ในที่เปิดเผย ณ สำนักงาน พร้อมทั้งรายงานสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานทราบโดยเร็ว
2.3 การรวมสถานศึกษา มีหลักเกณฑ์ ดังนี้
(1) มีนักเรียนรวมกันทุกชั้นเรียนไม่เกิน 120 คน ให้จัดทำแผนเกี่ยวกับบุคลากร งบประมาณ ทรัพย์สิน เอกสารสำคัญ และการช่วยเหลือเด็กนักเรียน
(2) จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้ปกครองนักเรียนและคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน
(3) ให้นักเรียนทุกชั้นเรียนในสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ใกล้กันตั้งแต่สองแห่งขึ้นไปมาเรียนรวมกัน เพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการศึกษาให้มีประสิทธิภาพและลดภาระค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร
(4) เมื่อคณะกรรมการให้ความเห็นชอบแล้ว ให้ประกาศภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งมติจากคณะกรรมการ และให้เผยแพร่ให้ประชาชนทราบโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงปิดประกาศไว้ในที่เปิดเผย ณ สำนักงาน พร้อมทั้งรายงานสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานทราบโดยเร็ว
(5) เมื่อประกาศการรวมสถานศึกษาแล้ว ให้สถานศึกษาหลักรับย้ายนักเรียนที่มาเรียนรวมจากสถานศึกษาอื่นมาเป็นนักเรียนของสถานศึกษาหลัก ให้สถานศึกษาที่มารวมโอนบรรดาสิทธิในงบประมาณหรือเงินอุดหนุน ทรัพย์สิน สิทธิ สิทธิเรียกร้อง หนี้ ไปเป็นของสถานศึกษาหลัก และให้สำนักงานดำเนินการเลิกสถานศึกษาที่มารวมภายใน 360 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งมติจากคณะกรรมการ
2.4 การเลิกสถานศึกษา มีหลักเกณฑ์ ดังนี้
(1) การเลิกสถานศึกษากรณีไม่มีนักเรียนที่จะจัดการเรียนการสอนให้จัดทำแผนเสนอคณะกรรมการฯ ให้ความเห็นชอบการดำเนินการเกี่ยวกับบุคลากร งบประมาณ ทรัพย์สิน และเอกสารสำคัญ
(2) การเลิกสถานศึกษากรณีเป็นสถานศึกษาที่ไปรวมสถานศึกษาหลักให้จัดทำแผนการดำเนินการเกี่ยวกับบุคลากร งบประมาณ ทรัพย์สิน เอกสารสำคัญ และการช่วยเหลือเด็กนักเรียน
(3) จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้ปกครองนักเรียนและคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน
(4) เมื่อสำนักงานดำเนินการตาม (1) และ (2) แล้ว ให้เสนอคณะกรรมการฯ ให้ความเห็นชอบ เมื่อเห็นชอบแล้ว ให้ประกาศภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งมติจากคณะกรรมการ และให้เผยแพร่ให้ประชาชนทราบโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงปิดประกาศไว้ในที่เปิดเผย ณ สำนักงาน พร้อมทั้งรายงานสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยเร็วเพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา
(5) เมื่อประกาศการเลิกสถานศึกษานั้นแล้ว ให้สำนักงานจัดให้มีการตรวจสอบทรัพย์สินและชำระบัญชี รวมถึงการดำเนินการโอนหรือจำหน่ายทรัพย์สินที่ยังคงเหลืออยู่ของสถานศึกษาให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการนั้นกำหนด
(6) บรรดาเอกสารสำคัญของสถานศึกษาที่ถูกเลิก ให้โอนไปอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของสำนักงานหรือสถานศึกษาหลัก เช่น การเลิกสถานศึกษากรณีไม่มีนักเรียนที่จะจัดการเรียนการสอนให้เก็บไว้ที่สำนักงาน สำหรับการเลิกสถานศึกษากรณีเป็นสถานศึกษาที่ไปรวมสถานศึกษาหลักให้เก็บไว้ที่สถานศึกษาหลัก
ที่มา สรุปข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 2 พฤษภาคม 2566