เมื่อวันที่ 29 เม.ย. ผศ.ดร.อมลวรรณ วีระธรรมโม เลขาธิการคุรุสภา กล่าวว่า จากประกาศคณะกรรมการคุรุสภาเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครู พ.ศ. 2566 ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2566 โดยประกาศดังกล่าวมีสาระสำคัญเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และวิธีการทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครูที่จะมีการทดสอบด้านความรู้และประสบการณ์วิชาชีพ 2 วิชา ได้แก่ วิชาครู และกลุ่มวิชาจำนวน 68 กลุ่มวิชา ตามที่คุรุสภากำหนดในประกาศคณะกรรมการคุรุสภา เรื่อง กลุ่มวิชาที่ระบุในใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นต้น และใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นสูง พ.ศ. 2566 และให้มีการประเมินด้านการปฏิบัติงานและด้านการปฏิบัติตนตามที่คุรุสภากำหนด สำหรับนักศึกษาที่เข้าศึกษาในปีการศึกษา 2562-2565 ให้ได้รับการยกเว้นการทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครูฯ กลุ่มวิชาแก่ผู้สำเร็จการศึกษาหรืออยู่ระหว่างศึกษาในหลักสูตรปริญญาทางการศึกษา หรือเทียบเท่า หรือปริญญาอื่น นอกจากนี้ผู้เข้ารับการทดสอบและประเมินที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูจากต่างประเทศ ให้ได้รับการยกเว้นการทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครู
ผศ.ดร.อมลวรรณ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ คุรุสภาได้ประกาศ เรื่อง กลุ่มวิชาที่ระบุในใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นต้น และใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นสูง พ.ศ. 2566 โดยได้กำหนดกลุ่มวิชา รวมจำนวน 68 กลุ่มวิชา ดังนี้ 1) การศึกษาปฐมวัย 2) การประถมศึกษา 3) การศึกษาพิเศษ 4) การศึกษานอกระบบโรงเรียน 5) วิชาเฉพาะ ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 35 กลุ่มวิชา 6) วิชาเฉพาะ ตามหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ จำนวน 29 กลุ่มวิชา และ อื่น ๆ ตามที่ส่วนราชการเสนอ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการคุรุสภา ทั้งนี้ ผู้ที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูที่หมดอายุ และประสงค์จะขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นต้น หรือใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นสูง อาจระบุกลุ่มวิชาที่ตรงตามสาขาวิชา หรือใกล้เคียงวิชาเอก หรือวิชาโทที่สำเร็จการศึกษา หรือวิชาที่มีประสบการณ์สอนในสถานศึกษา
สำหรับนิสิต นักศึกษาที่เข้าศึกษาในคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ หลักสูตรที่คุรุสภารับรองเท่านั้น ตั้งแต่ปีการศึกษา 2562-2565 ทั้งระดับ ป.ตรี ป.โท ป.เอก และ ป.บัณฑิต ที่ประสงค์ยื่นคำขอขึ้นทะเบียนรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทางการศึกษาจะต้องสำเร็จการศึกษาและได้รับการอนุมัติจากสภามหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยต้องส่งรายละเอียด ดังนี้ 1) ส่งรายชื่อผู้สำเร็จการศึกษาให้คุรุสภายืนยันข้อมูลในระบบ KSP Bundit และ 2) ส่งข้อมูลการทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครู ด้านการปฏิบัติงานและการปฏิบัติตนฯ และได้รับการประกาศผลจากคุรุสภาว่าเป็นผู้ผ่านการประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครูฯ ด้านการปฏิบัติงานและปฏิบัติตนฯ เพิ่มเติม จากนั้น นิสิต นักศึกษา จึงจะสามารถยื่นคำขอขึ้นทะเบียนรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทางการศึกษาผ่านระบบ KSP Self-service ได้ โดยต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้
1.ใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่ครู (P License) นั้นไม่ต้องมีผลการทดสอบด้านความรู้ฯ
2. ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นต้น(B License) มีผลการทดสอบด้านความรู้ฯ ผ่านทั้ง 4 วิชา หรือผ่านวิชาชีพครู
ผศ.ดร.พลรพี ทุมมาพันธ์ รองเลขาธิการคุรุสภา กล่าวว่า หลังจากประกาศดังกล่าวมีผลบังคับใช้ มีบุคลากรทางการศึกษาสอบถามเข้ามาที่คุรุสภาในหลายประเด็น เช่น
เรื่องที่ 1 สอบถามว่าใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูที่ถืออยู่ยังสามารถใช้ได้หรือไม่ ต้องขอย้ำว่าใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูที่ออกก่อนข้อบังคับนี้ใช้บังคับ สามาถใช้ได้ต่อไปจนกว่าจะหมดอายุ
เรื่องที่ 2 เป็นเรื่องของการยื่นขอขึ้นทะเบียนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ซึ่งการยื่นขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ให้ผู้ยื่นคำขอ ยื่นผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (KSP e-Service) ที่จะต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม มีเอกสารครบถ้วน ถูกต้อง พร้อมทั้งชำระค่าธรรมเนียม ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบอีกครั้ง และผู้ยื่นคำขอต้องติดตามตรวจสอบผลในระบบด้วย
เรื่องที่ 3 ถ้ายังไม่ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นต้น (B-LICENSE) สามารถปฏิบัติหน้าที่สอนได้หรือไม่ ขอตอบว่าได้ ถ้าถือเอกสารตามที่คุรุสภาออกให้ เช่น ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูฉบับเดิม หรือใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่ครู หรือหนังสือรับรองความรู้ตามมาตรฐานวิชาชีพ หรือหนังสืออนุญาตให้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาโดยไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ
เรื่องที่ 4 ถามถึงเรื่องการต่ออายุใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ให้ผู้ยื่นคำขอดำเนินการยื่นต่ออายุภายใน 180 วัน ก่อนวันใบอนุญาตประกอบวิชาชีพหมดอายุ สำหรับกรณีมีความจำเป็นเร่งด่วนขอรับใบอนุญาตฯ สามารถดำเนินการได้ใน 3 กรณี คือ 1) ใช้ในการสมัครสอบและจะหมดระยะเวลาการรับสมัคร 2) ใช้ในการบรรจุแต่งตั้งที่ต้องใข้ใบอนุญาตฯ ในวันที่บรรจุแต่งตั้ง และ 3) ใช้ในการต่อสัญญาจ้าง ซึ่งจะใช้ระยะเวลาดำเนินการภายใน 1-3 วันทำการ เป็นต้น
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก เดลินิวส์ วันที่ 29 เมษายน 2566