เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2566 ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.)เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ทั่วประเทศ ผ่าน Video Conference ว่า หลังจากเปิดภาคเรียนในเดือนพฤษภาคม 2566 แล้ว ตนอยากให้ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา ไปวิเคราะห์ผลการดำเนินจัดการศึกษาหลังจากเด็กจบปีการศึกษา 2565 ว่า มีเด็กสามารถเลื่อนชั้นได้ครบทุกคนหรือไม่ มีเด็กกี่คนที่ไม่สามารถเลื่อนชั้นได้ จะดำเนินการช่วยเหลือเด็กที่ไม่สามารถเลื่อนชั้นอย่างไร ส่งต่อเด็กในปีการศึกษา 2566 อย่างไร และมีเด็กออกกลางคันหรือไม่ จำนวนเท่าไหร่ หากพบแล้วดำเนินการช่วยเหลืออย่างไร พร้อมกับให้เขตพื้นที่ฯ ทำการวิเคราะห์ว่าใน 1 ปีที่ผ่านมา และจากที่สพฐ. จัดทำคู่มือความปลอดภัยในสถานศึกษาให้โรงเรียนไปปฏิบัติ มีโรงเรียนกี่แห่งที่สามารถปฏิบัติตามได้ดีและประสบความสำเร็จ มีโรงเรียนกี่แห่งที่ยังมีปัญหา และปีหน้าจะปรับเปลี่ยนอย่างไร เพื่อสร้างความปลอดภัยในสถานศึกษา นอกจากนี้มอบหมายให้เขตพื้นที่ฯ จัดทำแผนเตรียมการรับมือเปิดเทอม 1 ปีการศึกษา 2566 โดยเฉพาะการเตรียมคน ที่จะต้องหาครูให้ครบชั้น และให้โรงเรียนทุกแห่งมีผู้อำนวยโรงเรียน รวมทั้งการเตรียมอุปกรณ์การเรียน ชุดนักเรียน และอุปกรณ์การเรียนต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อมเพื่อจัดการเรียนการสอนให้นักเรียนอย่างดีที่สุด
เลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อไปว่า สำหรับการสอบแข่งขันบรรจุเป็นข้าราชการครูตำแหน่งครูผู้ช่วย(ว.16)ที่จะมีการประกาศในเร็ว ๆ นี้ นั้น ตนได้หารือกับเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.)เบื้องต้นแล้วว่า การแข่งขันครั้งนี้ สพฐ.จะเสนอให้แก้ไขการสอบสอน 45 นาที ซึ่งเป็นปัญหาอุปสรรคกับการทำงานอย่างมาก เพราะหากเด็กจะสอนเก่งต้องสอนเก่งตั้งแต่ตอนฝึกสอนที่มหาวิทยาลัยแล้ว ไม่ใช่มาสอนแค่ 45 นาที ต่อหน้ากรรมการ ซึ่งเรื่องนี้ตนได้ชี้แจงตั้งแต่ดำรงตำแหน่งเลขาธิการก.ค.ศ.แล้ว และคิดว่ามี 5 ขั้นตอนจะต้องมีการแก้ไข ที่เห็นว่ามีปัญหาจริง ๆ
“ผมอยากให้แต่ละเขตพื้นที่ฯออกแบบวางแผนดำเนินการสอบครูผู้ช่วย(ว.16)ร่วมกัน ในจังหวัดเดียวกันก็ให้แบ่งกันรับผิดชอบ เช่น เขต 1 รับผิดชอบสอบวิชานี้ เขต 2 รับผิดชอบสอบวิชานั้น เป็นต้น แล้วใช้บัญชีร่วมกันเพื่อลดภาระความรับผิดชอบแต่ถ้าเขตไหนคิดว่าตัวเองแข็งพอ สามารถดำเนินการได้ทั้งหมดก็อยู่ในดุลยพินิจ ผมไม่ได้บังคับ หากดำเนินการได้ก็นำเข้าอ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯของตัวเอง แต่ต้องมีการออกแบบและวางแผนให้ดี นี่ก็คือการเตรียมการเพื่อดำเนินการรองรับการเตรียมการสอบ หากเห็นชอบในการแก้ไขหลักเกณฑ์ก็จะเร่งส่งรายละเอียดปฏิทินไปให้เขตพื้นที่ดำเนินการ”ดร.อัมพร กล่าวและว่า ส่วนการสอบผู้อำนวยการโรงเรียน และรองผู้อำนวยการโรงเรียน ซึ่งจะดำเนินการหลังจากสอบครูผู้ช่วย ตนอยากให้เขตพื้นที่ฯไปสำรวจโรงเรียนในความรับผิดชอบว่ามีโรงเรียนที่อยู่บนพื้นที่สูง ห่างไกล ทุรกันดาร อยู่ตามเกาะแก่ง มีกี่โรงเรียน เพราะตนจะเสนอ ก.ค.ศ.เพื่ออนุมัติให้ดำเนินการสอบ 2 ระบบ โดยโรงเรียนที่อยู่ที่อยู่บนพื้นที่สูง ห่างไกล ทุรกันดาร อยู่ตามเกาะแก่ง จะเสนอไม่ให้มีการสอบแข่งขัน แต่ให้ใช้ระบบคัดเลือกโดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องดำรงตำแหน่งโรงเรียนเหล่านี้ไม่ต่ำกว่า 4-6 ปี เพราะที่ผ่านมาผู้อำนวยการโรงเรียน รองผู้อำนวยการโรงเรียนเหล่านี้อยู่แค่ปีเดียวก็ขอย้าย ทั้งนี้เพื่อแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด โรงเรียนก็จะได้มีผู้อำนวยการโรงเรียน
ดร.อัมพร ยังได้พูดถึงการสอบคัดเลือกผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯปี 2565 ที่มหาวิทยาลัยสวนดุสิต(มสด.)รวมคะแนนผิดพลาดว่า เรื่องนี้ส่งผลกระทบแค่ 8 รายเท่านั้น คือ ผู้ถูกเพิกถอน 4 ราย และผู้ได้รับการแต่งตั้งใหม่ 4 ราย ซึ่งทั้ง 8 ราย ได้รับการเยียวยาจนเป็นที่พอใจแล้ว และตัดสินใจที่จะไม่ฟ้องร้อง อย่างไรก็ตาม ความผิดพลาดครั้งนี้มาจากการดำเนินงานของ มสด. ที่เป็นผู้รับจ้างจัดสอบและออกข้อสอบ โดยมี ก.ค.ศ. เป็นผู้ว่าจ้าง ซึ่งทางสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีหน้าที่บรรจุผู้สอบผ่านตามบัญชีที่คณะกรรมการสรรหาผู้ดำรงผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯ ออกประกาศ โดย สพฐ.ทำการบรรจุตั้งแต่งตั้งแต่วันที่ 30 ตุลาคม 2565 แล้ว ยอมรับว่ากรณีที่เกิดขึ้น อาจจะมีคนที่ไม่มั่นในผลสอบครั้งนี้ ซึ่งตนได้พูดคุยกับ ก.ค.ศ.แล้วจะต้องเปิดโอกาสให้ผู้ที่ไม่มั่นใจเข้ามาตรวจสอบคะแนนของตน แต่เมื่อตรวจสอบและพบข้อเท็จจริงแล้ว ขอให้ทุกคนยอมรับความเป็นจริงด้วย ส่วนเรื่องที่ผู้ที่เสียสิทธิจะไปฟ้องศาลปกครอง เพื่อขอให้ยกเลิกและสอบบรรจุใหม่หรือไม่นั้น เรื่องนี้ถือเป็นสิทธิของบุคคล หากมีการฟ้องศาลจริง ก็ขอให้ทุกอย่างเป็นไปตามดุลพินิจของศาล แต่ในส่วนของ สพฐ.นั้น เป็นเพียงผู้ใช้บัญชีและปฏิบัติตามระเบียบขั้นตอนที่ ก.ค.ศ.วางไว้เท่านั้น
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก FOCUSNEWS วันที่ 5 เมษายน 2566