ผลการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ 4/2566 วันจันทร์ที่ 3 เมษายน 2566 โดยมีคุณหญิงกัลยา โสภณพณิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุม และมี รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการ ก.ค.ศ. เป็นเลขานุการการประชุม ซึ่งที่ประชุมได้มีการพิจารณาเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาและมีมติที่สำคัญ ดังนี้
สืบเนื่องจากที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้ขอให้ ก.ค.ศ. พิจารณาเห็นชอบรายละเอียดการดำเนินการเกี่ยวกับการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษาและผู้อำนวยการสถานศึกษาสังกัด สพฐ. เนื่องจากมติที่ประชุม ก.ค.ศ. ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566 ได้มีมติให้ปรับปรุงหลักสูตรการคัดเลือก โดยปรับเนื้อหาการประเมินให้สอดคล้องกับลักษณะงานตามมาตรฐานตำแหน่งและมาตรฐานวิทยฐานะของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ว 3/2564) และเพื่อให้มีความสอดคล้องกับพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 19/2560 เรื่อง การปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการฯ ที่ให้ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาและ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ทำหน้าที่บริหารงานบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ทั้งนี้ เพื่อให้ได้มาซึ่งผู้บริหารที่มีศักยภาพในการขับเคลื่อนงานนโยบายในการบริหารสถานศึกษาให้เกิดประสิทธิภาพ โดยสาระสำคัญที่ได้ปรับปรุงรายละเอียดการดำเนินการคัดเลือกฯ รองผู้อำนวยการสถานศึกษา และผู้อำนวยการสถานศึกษา สังกัด สพฐ. คือ
ภาค ก ปรับเนื้อหาการประเมินให้สอดคล้องกับลักษณะงานตามมาตรฐานตำแหน่งและมาตรฐานวิทยฐานะของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ว 3/2564) ซึ่งต้องมีการบูรณาการงานทั้ง 5 ด้าน ให้เชื่อมโยงและสอดคล้องกัน
ภาค ข ประเมินจากผลงานที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรฐานตำแหน่งฯ ที่มีผลใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน (ว 3/2564)
ภาค ค วิสัยทัศน์และแนวคิดในการบริหารจัดการสถานศึกษาในการที่จะปฏิบัติงานในตำแหน่งที่สมัครเข้ารับการคัดเลือก ควรกำหนดองค์ประกอบ/ตัวชี้วัด ประเด็นท้าทาย ตามที่กำหนดไว้ในหลักเกณฑ์ ว 10/2564 ในส่วนของการสัมภาษณ์ เป็นให้ประเมินจากเจตคติและอุดมการณ์ของการเป็นผู้บริหารสถานศึกษา ภาวะผู้นำและการตัดสินใจ แนวคิดการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในการดำรงชีวิตและการปฏิบัติงาน บุคลิกภาพ และปฏิภาณ ท่วงที วาจา โดยวิธีการสัมภาษณ์
ตามที่หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษาและผู้อำนวยการสถานศึกษา ตาม ว 8/2562 กำหนดให้ส่วนราชการ ดำเนินการเกี่ยวกับการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษา หรือผู้อำนวยการสถานศึกษา แล้วแต่กรณี นั้น
สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา จึงขอให้ ก.ค.ศ. พิจารณาให้ความเห็นชอบรายละเอียดการดำเนินการเกี่ยวกับการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้ง ให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษา สังกัด สอศ. ดังนี้
1. ตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษา สังกัด สอศ. ยกเว้นเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนใต้ เฉพาะจังหวัดยะลา นราธิวาส ปัตตานี และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา (อำเภอจะนะ อำเภอสะบ้าย้อย อำเภอเทพา และอำเภอนาทวี)
2. ตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษา สังกัด สอศ. ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนใต้เฉพาะจังหวัดยะลา นราธิวาส ปัตตานี และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา (อำเภอจะนะ อำเภอสะบ้าย้อย อำเภอเทพา และอำเภอนาทวี)
โดยสรุปสาระสำคัญของการดำเนินการได้ ดังนี้
องค์ประกอบในการคัดเลือกและวิธีการคัดเลือก
- ภาค ก สมรรถนะในการบริหารงานในหน้าที่ (คะแนนเต็ม 100 คะแนน)
- ภาค ข ความเหมาะสมกับการปฏิบัติงานในหน้าที่ (คะแนนเต็ม 150 คะแนน)
ส่วนที่ 1 การประเมินประวัติและประสบการณ์ (50 คะแนน)
ส่วนที่ 2 การประเมินผลงาน (50 คะแนน)
ส่วนที่ 3 การประเมินศักยภาพ (50 คะแนน)
- ภาค ค ความเหมาะสมกับตำแหน่ง (คะแนนเต็ม 100 คะแนน)
ส่วนที่ 1 รายงานการแสดงวิสัยทัศน์ในการพัฒนาสถานศึกษา (50 คะแนน)
ส่วนที่ 2 สัมภาษณ์ (50 คะแนน)
เกณฑ์การตัดสิน
- ผู้ผ่านการคัดเลือก ภาค ก ต้องได้คะแนนไม่ต่ำกว่าร้อยละหกสิบ จึงมีสิทธิเข้ารับการประเมิน ภาค ข และ ภาค ค
- ผู้ได้รับการคัดเลือกต้องได้คะแนนภาค ข และภาค ค แต่ละภาคไม่ต่ำกว่าร้อยละหกสิบ และได้คะแนนรวม ภาค ก ภาค ข และภาค ค รวมกันไม่ต่ำกว่าร้อยละหกสิบ โดยให้ประกาศรายชื่อเรียงตามลำดับที่ผู้ได้คะแนนรวมทั้ง 3 ภาค จากมากไปหาน้อย
ระยะเวลาการขึ้นบัญชี
กำหนดกรอบระยะเวลาไว้ไม่เกิน ๒ ปี นับแต่วันที่ประกาศขึ้นบัญชี ทั้งนี้ อ.ก.ค.ศ. สอศ. อาจพิจารณาให้มีการขึ้นบัญชี หรือไม่มีการขึ้นบัญชีก็ได้ โดยคำนึงถึงความเหมาะสมและประโยชน์ที่ทางราชการจะได้รับ
รายละเอียดการดำเนินการฯ ที่พื้นที่พิเศษแตกต่างจากพื้นที่ปกติ มีดังนี้
ภาค ข ส่วนที่ 1 การประเมินประวัติและประสบการณ์ (50 คะแนน)
(1) คุณวุฒิการศึกษา (10 คะแนน)
(2) อายุราชการ (10 คะแนน)
(3) การปฏิบัติหน้าที่ในปัจจุบัน (10 คะแนน)
(4) วิทยฐานะในปัจจุบัน (10 คะแนน)
(5) การรักษาวินัย (ย้อนหลัง 5 ปี) (5 คะแนน)
(6) การปฏิบัติงานในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ จชต. (5 คะแนน)
ภาค ค ส่วนที่ 1 รายงานการแสดงวิสัยทัศน์ในการพัฒนาสถานศึกษา (50 คะแนน)
สำหรับเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ จชต. ให้จัดทำรายงานการแสดงวิสัยทัศน์และแนวทางการบริหารสถานศึกษาในการพัฒนาสถานศึกษา การปฏิบัติงานในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ จชต. เงื่อนไขในการบรรจุและแต่งตั้งฯ สำหรับผู้ที่ได้รับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่ง รอง ผอ. สถานศึกษา ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ จชต. กำหนดเงื่อนไขให้ต้องอยู่ปฏิบัติหน้าที่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ จชต. เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 4 ปี นับแต่วันที่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งฯ จึงจะขอย้ายออกนอกเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ จชต. ได้
ทั้งนี้ ให้แก้ไขประเด็นการพัฒนาก่อนการบรรจุและแต่งตั้ง เป็นการพัฒนาตามที่ส่วนราชการกำหนดโดยความเห็นชอบของ อ.ก.ค.ศ. สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาและให้นำเสนอ ก.ค.ศ. พิจารณาต่อไป
ที่มา สำนักงาน ก.ค.ศ.