๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖
เรื่องชี้แจงข้อเท็จจริง
เรียน อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นายชินวรณ์ บุญยเกียรติ)
อ้างถึง คลิปวีดีโอการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนที่รัฐสภาของท่าน
ตามคลิปวีดีโอที่อ้างถึงท่านได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนที่อาคารรัฐสภาในเรื่องเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฯโดยมีสาระสำคัญการให้สัมภาษณ์ดังนี้
1. ร่างกฎหมายนี้เป็นร่างกฎหมายที่เป็นความก้าวหน้าทางการศึกษาอย่างมากในรอบ ๒๐ ปี มุ่งเน้นเรื่องสมรรถนะ คุณภาพผู้เรียน ไม่มีเรื่องใดที่เป็นการลดทอนความก้าวหน้าของเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา มีกองทุนครูของแผ่นดิน มีการปรับกระบวนการบริหารการจัดการการศึกษาของชาติ โดยให้มีคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ
2. ขอให้กลุ่มที่เคลื่อนไหวยุติการเคลื่อนไหว หยุดการกระทำที่ใช้การเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องกับการพิจารณา พ.ร.บ.การศึกษา นี้ กลุ่มที่คัดค้านอาจไม่เข้าใจหรือมีผลประโยชน์ส่วนตัว
3. ใครก็ตามที่อยู่ข้างหลังในการเอาการเมืองมาเคลื่อนไหวในวงการศึกษา ขอให้จับตามองว่ากลุ่มนี้คิดแต่ผลประโยชน์ทางการเมือง หวังผลประโยชน์ต่อกลุ่มผลประโยชน์ของตัวเองเท่านั้น
ความแจ้งแล้ว นั้น
สมาคมพิทักษ์สิทธิ์ผู้บริหาร ครูและบุคลากรทางการศึกษา (ส.พ.บ.ค.) ขอขอบพระคุณในความห่วงใยทางการศึกษาของท่าน อย่างไรก็ตามสมาคม ขอเรียนว่าองค์กร กลุ่มบุคคลต่างๆที่ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านนั้น ล้วนแล้วแต่มีความห่วงใยชาติบ้านเมืองด้านการศึกษาเช่นกันและมองเห็นปัญหาสำคัญที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยมีเหตุผล ข้อมูล ข้อเท็จจริงดังนี้
ข้อ ๑ กลุ่มบุคคลและองค์กรต่างๆที่ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านนั้น ไม่มีผู้นำองค์กรรายใดเกี่ยวข้องหรือมีสายสัมพันธ์กับพรรคการเมืองใด แต่อย่างใด
ข้อ ๒ ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฯ จะได้รับการพิจารณาและประกาศใช้เป็นกฎหมาย หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับ ส.ส.และพรรคการเมือง ดังนั้นการที่กลุ่มบุคคลและองค์กรต่างๆ ไปเรียกร้องขอความช่วยเหลือจากพรรคการเมืองต่างๆ นั้น จึงเป็นช่องทางปกติที่พึงต้องกระทำเพราะไม่มีหนทางอื่นใดที่จะยับยั้งได้
ข้อ ๓ การที่ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลหรือ สว.ไม่เข้าประชุมสภา จนกฎหมายนี้ไม่ผ่านการพิจารณาและไม่มีการประกาศใช้ นั้นก็คงเนื่องจากไม่เห้นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ แต่โดยมารยาทของการเป็น ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลและ สว.ที่รัฐบาลแต่งตั้ง ก็คงไม่สะดวกที่จะไปลงคะแนนเสียงคัดค้าน จึงต้องใช้วิธีการไม่เข้าประชุม
ข้อ ๔ เมื่อแรกเริ่มการร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฯ ฉบับนี้ไม่เปิดโอกาสให้ครูหรือบุคลากรใน วงการศึกษามีส่วนร่วมในการร่างหรือเสนอความคิดเห็นแม้แต่รายเดียว ไม่มีการทำประชาพิจารณ์ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด มีเจตนาเริ่มต้นในเรื่องการลดทอนความก้าวหน้าและสิทธิประโยชน์ของครู ต่อมาเมื่อองค์กรครูต่างๆตรวจพบและเรียกร้อง จึงมีการปรับเปลี่ยน ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงทำให้ขาดความไว้วางใจ
ข้อ ๕ ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฯนี้ ไม่เคยเผยแพร่ให้ทราบว่าปัญหาทางการศึกษาของชาติบ้านเมืองคืออะไร และมีประเด็นอะไรที่จะต้องแก้ไขและส่งเสริม อันจะนำไปสู่การปฏิรูปการศึกษาอย่างแท้จริง
ข้อ ๖ ประเด็นสำคัญที่อาจทำให้การศึกษาจะมีผลกระทบอย่างยิ่งคือการให้คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน มีอำนาจในการสรรหาผู้อำนวยการโรงเรียน การบริหารโรงเรียน และการบริหารงานบุคคลในโรงเรียน การให้อำนาจเช่นนี้จะส่งผลให้ผู้ดำเนินกิจการธุรกิจทางการศึกษาเข้าไปครอบงำการดำเนินการกิจการของโรงเรียนในรูปแบบของคณะกรรมการสถานศึกษา อย่างไรก็ตามหากความคิดเห็นที่ว่าการมีองค์คณะบุคคลที่เป็นเอกชน บริหารองค์กร/สรรหาผู้บริหารองค์กร หรือบริหารงานบุคคลในองค์กร เป็นสิ่งที่เหมาะสม ก็ควรให้มีองค์กรเช่นนี้ในทุกกระทรวงเช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงสาธารณสุข ฯลฯ เป็นต้น
ข้อ ๗ คณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ ตามร่าง พ.ร.บ.นี้ จากองค์ประกอบของคณะกรรมการชุดดังกล่าว ไม่ปรากฏว่ามีรายใดที่มีประสบการณ์ในการสอนหนังสือนักเรียนแต่อย่างใด เมื่อผู้กำหนดนโยบายไม่มีความรู้ไม่มีประสบการณ์ด้านการสอน การจัดการศึกษา แล้วจะนำพาให้การศึกษาของชาติไปสู่ความสำเร็จได้อย่างไร
สมาคม ขอเรียนว่ายังมีอีกหลายเหตุผลที่เป็นข้อบ่งบอกว่าร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับนี้ มีข้อบกพร่องหลายประการเช่นเป็นร่าง พ.ร.บ.การศึกษาที่ไม่ครอบคลุมการจัดการศึกษาแห่งชาติอย่างแท้จริงน่าจะเป็นร่าง พ.ร.บ.การศึกษาขั้นพื้นฐานมากกว่า ไม่ได้กำหนดทิศทางการบริหารจัดการศึกษาว่าจะมีองค์กรใดรับผิดชอบในการบริหารจัดการศึกษา และยังขาดสาระสำคัญอีกหลายประการที่อาจส่งผลกระทบต่อการจัดการศึกษาและจะก่อให้เกิดความเสียหายที่ยากแก่การเยียวยา ดังนั้นบรรดาองค์กรครูหลายองค์กรจึงต้องออกมาต่อสู้เรียกร้องให้ระงับยับยั้ง ไม่ให้ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติดังกล่าวประกาศใช้เป็นกฎหมาย ต่อไป
จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบและพิจารณา
ขอแสดงความนับถือ
นายรัชชัยย์ ศรสุวรรณ
นายกสมาคม
โทร ๐๘๓-๒๖๕๒๖๙๓