เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ห้องประชุม ชั้น 5 สถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ (พว.) ได้มีพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ ความร่วมมือทางวิชาการ(MOU) ระหว่าง สมาคมสภาการศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย กับ สถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ โดยมี ศ.กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธี และมีนายมณฑล ภาคสุวรรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน(กช.) ร่วมในพิธี โดย ศ.กิตติคุณ ดร.วิษณุ กล่าวว่า เชื่อว่าทุกคนเข้าใจและมีความตระหนักในการเรียนการสอนแบบ Active Learning อยู่แล้ว เพียงแต่อาจจะไม่ทราบว่าจะเดินไปอย่างไร แต่ถ้ามีการแนะนำและการเตรียมตัวที่ดีก็จะเดินหน้าไปได้แน่นอน ซึ่งการลงนามครั้งนี้ถือเป็นการเปิดฉากความร่วมมือกับสถาบัน สมาคมต่าง ๆ และหากสามารถกระจายไปครอบคลุมทุกหน่วยงานของประเทศไทยเราจะได้เห็นความพร้อมเพรียง ประเทศไทยก็จะเข้าสู่การพลิกโฉมได้อย่างแท้จริง
“กระบวนการเรียนรู้แบบ Active Learning ใช้ได้ตั้งแต่อนุบาลจนถึงอุดมศึกษา แต่ตอนนี้ไปไม่หมดทุกระดับ เพราะเราเน้นระดับประถมศึกษากับมัธยมศึกษาตอนต้น และทำได้ในบางโรงเรียน โดยในโรงเรียนสาธิตอาจจะทำได้เร็วและก้าวหน้ากว่าคนอื่น อย่างไรก็ตามวันนี้ดีใจที่มีโรงเรียนพระพุทธศาสนาเข้ามาร่วมแล้ว ซึ่งต่อไปก็จะมีโรงเรียนศาสนาอื่นเข้ามา รวมถึงสถาบันการศึกษาต่าง ๆ เข้ามาเพิ่มอีก ก็จะทำให้เกิดการขยับพร้อมเพรียงกันมากขึ้น รวมถึงอยากให้ขยายไปในสาขาอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากการศึกษา อย่างเศรษฐศาสตร์ วิทยาศาสตร์ กฎหมาย ด้วย แต่ที่ยังไปไม่ถึงอาจเป็นเพราะยังไม่เข้าใจว่าจะนำกระบวนการ Active Learning ไปใช้ได้อย่างไร อย่างไรก็ตามการปฏิรูปต้องใช้เวลาทำวันเดียวเสร็จไม่เรียกปฏิรูปแต่เรียกปฏิวัติ”รองนายกฯกล่าว
ดร.ศักดิ์สิน โรจน์สราญรมย์ ประธานกรรมการบริหาร สถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ (พว.) กล่าวว่า การจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning เป็นนโยบายด้านการศึกษาที่สําคัญของรัฐบาลในการกํากับดูแลของรองนายกรัฐมนตรี ศ.กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม ซึ่ง พว.นอกจากจะพัฒนาสื่อการเรียนการสอนแล้ว ยังได้พัฒนาวิธีการเรียนรู้ของผู้เรียน และวิธีจัดการเรียนรู้ของครู ซึ่งการเรียนรู้ และพัฒนาตามขั้นตอนเหล่านี้จะทำให้เด็กเกิดความรู้ที่แท้จริง ซึ่งเด็กจะเกิดความเข้าใจในสิ่งที่เขาคิดและทำด้วยตนเอง ทางนายกสมาคมสภาการศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทยจึงมีความต้องการที่จะร่วมกับ พว.พัฒนาเพื่อยกระดับคุณภาพนักเรียนและบุคลากรทางการศึกษาให้มีศักยภาพตอบสนองนโยบายดังกล่าว มุ่งเน้นให้ผู้เรียนสามารถ เข้าใจ รู้ความหมาย เห็นคุณค่าในสิ่งที่เรียนรู้อย่างมีความสุขและเกิดความภาคภูมิใจในการพัฒนา ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ผ่านการทํางานเป็นทีมและความร่วมมือระหว่างผู้เรียนด้วยกัน ซึ่งเป็นทักษะที่จําเป็นสําหรับโลกอนาคตไปสู่การเป็นนวัตกรได้
อาจารย์ดวงใจ ตระกูลช่าง กรรมการสมาคมสภาการศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สมาคมสภาการศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย ให้ความสําคัญกับการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษาที่เป็นสมาชิกของสมาคมสภาการศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย โดยหวังให้มีการจัดการศึกษาที่ดีจากการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ ครอบคลุมไปถึงเยาวชนที่เข้ามาศึกษาในสถานศึกษาของเราทุกคน เติบโตเป็นพลเมืองที่มีความสามารถ มีกระบวนการคิดขั้นสูง มีทักษะจําเป็นในศตวรรษที่ 21 และมีคุณลักษณะที่ดีติดตัวไปเป็นคนดีของสังคม โดยนําทักษะไปใช้สร้างอาชีพ สร้างงาน พัฒนาคุณภาพชีวิต ของตน สังคม และชุมชนให้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งเติบโตไปเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศชาติ ซึ่งการจัดการศึกษาให้เกิดผลกับผู้เรียนดังกล่าว ต้องอาศัยกระบวนการจัดการเรียนรู้สื่อและหนังสือเรียนที่มีคุณภาพ ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติจริง สรุปความรู้ได้เอง สร้างทักษะและคุณลักษณะสําคัญจากการทํางานให้ติดตัวเป็นอุปนิสัย พร้อมแสดงออกเป็นสมรรถนะในการปฏิบัติงานในสถานการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตจริงได้ และมีความหมายต่อผู้เรียน ซึ่ง พว.มีองค์ความรู้ในการพัฒนากระบวนการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาการคิดสื่อและหนังสือเรียนที่มีคุณภาพดังกล่าวให้กับสถานศึกษาทุกระดับตั้งแต่อนุบาล ประถมศึกษา มัธยมศึกษาและอาชีวศึกษาให้เป็นที่ยอมรับของโรงเรียนและสถานศึกษาทั่วประเทศ
“นอกจากนี้ พว.ยังมีสื่อสนับสนุนการจัดการเรียนรู้ในรูปแบบต่างๆที่น่าสนใจจํานวนมาก สมาคมมีวัตถุประสงค์สําคัญ คือ การร่วมมือองค์กรสถาบันทางวิชาการต่าง ๆ เพื่อร่วมพัฒนาการบริหารจัดการสถานศึกษาสมาชิก ในการยกระดับคุณภาพการศึกษา พัฒนาครูบุคลากรทางการศึกษาและผู้ที่เกี่ยวข้องจัดให้มีการใช้สื่อสารสนเทศเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา และสร้างเครือข่ายความร่วมมือของชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพเพื่อส่งเสริมศักยภาพครูและของผู้เรียน อย่างทั่วถึง ดังนั้นเพื่อให้เกิดการยกระดับคุณภาพการศึกษาพัฒนาครูบุคลากรทางการศึกษาและผู้ที่เกี่ยวข้องร่วมมือกันจัดดําเนินการให้มีการใช้สื่อ สารสนเทศ เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษาที่เป็นสมาชิกของสมาคมสภาการศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย ให้นําไปสู่ผลลัพธ์คุณภาพที่ตัวผู้เรียนอย่างแท้จริง และตอบสนองการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนสู่การเรียนรู้ฐานสมรรถนะเพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21”อาจารย์ดววงใจกล่าว
ด้าน ดร.อุดม ชํานิ นายกสมาคมโรงเรียนการกุศลของวัดในพระพุทธศาสนา กล่าวว่า ตามที่กระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายการดําเนินการที่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และแผนยุทธศาสตร์ชาติที่มุ่งเน้นการยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษา ลดความเหลื่อมลํ้าทางการศึกษา และปฏิรูประบบการศึกษาให้มีประสิทธิภาพ สามารถรองรับความหลากหลายของการจัดการศึกษาและตอบโจทย์การพัฒนาของโลกอนาคต โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ผู้เรียนทุกกลุ่มวัยได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพตามมาตรฐานมีทักษะที่จําเป็นของโลกอนาคต และเป็นพลเมืองที่รู้สิทธิและหน้าที่มีความรับผิดชอบมีจิตสาธารณะมีความรัก และความภาคภูมิใจในความเป็นไทยโดยมีขอบเขตครอบคลุมทั้งการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษา ตั้งแต่ระดับปฐมวัยไปจนถึงระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และระดับอาชีวศึกษา ลดความเหลื่อมลํ้าทางการศึกษา การพัฒนาการจัดการเรียนการสอนสู่การเรียนรู้ฐานสมรรถนะ เพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 โดยมุ่งหวังให้ผู้ที่อยู่ในวัยเรียนและวัยรุ่นมีความรู้และทักษะในศตวรรษที่ 21 ครบถ้วน รู้จักคิด วิเคราะห์ รักการเรียนรู้มีสํานึกพลเมือง มีความกล้าหาญทางจริยธรรม มีความสามารถในการแก้ปัญหา ปรับตัว สื่อสาร และทํางานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพตลอดชีวิต โดยคํานึงถึงสถานการณ์และบริบทการเปลี่ยนแปลง ที่ส่งผลต่อการจัดการศึกษาที่สําคัญ
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก FOCUSNEWS วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566