เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2566 รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางสำนักงาน ก.ค.ศ.กำลังดำเนินการเกี่ยวกับอัตรากำลังครูและบุคลากรทางการศึกษา 2 เรื่องใหญ่ คือ เรื่องแรก สืบเนื่องจากปัจจุบันมีโรงเรียนขนาดเล็กที่มีจำนวนนักเรียนต่ำกว่า 121 คน ประมาณ 15,000 โรง หรือ 51% ของจำนวนโรงเรียนทั้งหมด ซึ่งปัญหา คือ มีโรงเรียนขนาดเล็กเหล่านี้จำนวนหนึ่งไม่มีผู้อำนวยการโรงเรียน เพราะเมื่อผู้อำนวยการโรงเรียนเกษียณอายุราชการ หรือย้ายออกไปคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.)ไม่คืนอัตราให้ ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการแก้ปัญหาโดยการแต่งตั้งรักษาราชการ ซึ่งไม่เป็นผลดีกับเด็ก ดังนั้น ก.ค.ศ.จึงได้ไปเจรจากับ คปร. เพื่อขอให้ผ่อนคลาย และให้สามารถบรรจุผู้อำนวยการในโรงเรียนที่มีนักเรียน 60-120 คนได้ โดย ก.ค.ศ.จะเกลี่ยอัตราครูที่เกินในโรงเรียนขนาดใหญ่มาเปลี่ยนเป็นผู้อำนวยการเพื่อบรรจุในโรงเรียนเหล่านั้น โดยไม่ใช่การเพิ่มตำแหน่ง หรือเพิ่มเงิน แต่เป็นการบริหารตำแหน่ง เพื่อให้โรงเรียนมีผู้บริหารโรงเรียน
“จากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลและดูการปฏิบัติงานจริงของครูในพื้นที่ โดยเน้นไปที่โรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ยากลำบาก ทำให้เห็นว่าโรงเรียนขนาดเล็กจำนวนมากไม่มีผู้อำนวยการโรงเรียน และก็มีไม่น้อยที่ให้ครูในโรงเรียนทำหน้าที่รักษาราชการผู้อำนวยการโรงเรียน หรืออาจจะให้ผู้อำนวยการโรงเรียนอื่นมารักษาการอีกโรงเรียนด้วย ซึ่งวิธีการนี้จะส่งผลต่อคุณภาพของเด็กอย่างมาก ประกอบกับ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ก็ได้รับทราบปัญหานี้แล้ว ดังนั้นเราต้องดูแลโรงเรียนกลุ่มดังกล่าวให้สามารถบริหารจัดการอย่างมีคุณภาพได้ เพราะการควบรวมโรงเรียนก็มีปัญหาอุปสรรคอยู่มาก และที่ผ่านมาเราอาจจะมองในมิติทางเศรษฐศาสตร์ มองเรื่องงบประมาณเป็นหลักจนลืมเรื่องของคุณภาพไป แต่เป้าหมายก็ไม่ใช่ปล่อยปัญหาทิ้งไป ผมจึงไปเจรจากับ คปร.โดยพยายามชี้ให้เห็นสภาพของปัญหา ซึ่งเข้าใจว่า คปร.จะนำเรื่องเข้าพิจารณาในเร็ว ๆนี้ เชื่อว่าเราน่าจะมีข่าวดีเรื่องนี้เช่นกัน”เลขาธิการ ก.ค.ศ.กล่าว
รศ.ดร.ประวิต กล่าวต่อไปว่า สำหรับเรื่องใหญ่อีกเรื่อง คือ เรื่องของเกณฑ์การสอบบรรจุครู ซึ่งตนพบว่า จะใช้มาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศไม่ได้ โดยเฉพาะโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลยากลำบาก คนไม่อยากไป หรือ เมื่อสอบบรรจุได้พอเลือกไปแล้ว ก็พยายามจะหนีออกมา ดังนั้นตนกำลังจะทำหลักเกณฑ์การคัดเลือกครูเฉพาะพื้นที่ยากลำบาก โดยจะประชุมหารือร่วมกับผู้อำนวยการโรงเรียนในพื้นที่ยากลำบากเท่านั้น เมื่อได้ข้อสรุปก็จะนำเสนอต่อที่ประชุม ก.ค.ศ.เพื่อพิจารณาต่อไป
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก FOCUSNEWS วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2566