วันที่ 31 มกราคม 2566 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็น ประธานในพิธีเปิดงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ระดับชาติ ครั้งที่ 70 ปีการศึกษา 2565 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ จังหวัดร้อยเอ็ด โดยมี นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการ กพฐ. นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการ กพฐ. พร้อมทั้งผู้บริหารด้านการศึกษา นักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึงพี่น้องชาวร้อยเอ็ดและจังหวัดใกล้เคียง เข้ามาร่วมชมพิธีเปิดมากกว่า 2,000 คน
นางสาวตรีนุช กล่าวว่า จากการเยี่ยมชมกิจกรรมงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ระดับชาติ ครั้งที่ 70 ปีการศึกษา 2565 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดร้อยเอ็ด ในวันนี้ ขอชื่นชมคณะกรรมการจัดงานทุกท่านตลอดจนผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนที่ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ด้วยการจัดการศึกษานั้นมีเป้าหมายสูงสุดคือการพัฒนาผู้เรียนให้เป็นมนุษย์ที่มีความสมบูรณ์ทั้งร่างกาย อารมณ์ สังคม สติปัญญา จึงเป็นหน้าที่ของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายที่ต้องจัดหาประสบการณ์ที่ดีให้แก่ผู้เรียนได้ฝึกปฏิบัติ รวมถึงกระบวนการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนให้แสดงออกในทางที่ดี ทั้งในและนอกสถานศึกษา ดังนั้นการจัดการแข่งขันงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน จึงนับว่าเป็นกิจกรรมสำคัญที่สะท้อนให้เห็นความสามารถของนักเรียนในด้านต่างๆ ทั้งความรู้ ทักษะกระบวนการ ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ การแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน และการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า รวมถึงการให้เกียรติผู้อื่นโดยมิได้มุ่งผลการแข่งขันเพียงอย่างเดียว ทำให้นักเรียนมีส่วนร่วมในกิจกรรมจำนวนมาก ทั้งระดับโรงเรียน ระดับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ระดับจังหวัด จนถึงระดับภาคในที่สุด
“ขอชื่นชมและเป็นกำลังใจให้แก่หน่วยงาน รวมถึงสถานศึกษาทุกแห่งที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดกิจกรรมการแข่งขันงานศิลปหัตถกรรมนักเรียนในครั้งนี้ โดยเฉพาะผู้บริหารการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และนักเรียนซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของงาน ที่ได้เสียสละทุ่มเทในการฝึกฝนจนสามารถพัฒนาทักษะ ความรู้ความสามารถจนเกิดผลสัมฤทธิในด้านต่าง ๆ เป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชน” รมว.ศธ. กล่าว
ทางด้าน นายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดการแข่งขันงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ในนามกระทรวงศึกษาธิการมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ที่ทรงริเริ่มการจัดงานศิลปหัตถกรรมสืบสานถ่ายทอดสู่อนุชนรุ่นหลัง “ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อจะแนะนำชักจูงให้เด็กชายหญิงในสมัยนั้น ได้เอาใจใส่ฝึกหัดศิลปหัตถกรรม ซึ่งสามารถเป็นทางเลี้ยงอาชีพต่าง ๆ ได้” และสานต่อเจตนารมณ์ของการจัดการศึกษาที่มุ่งหวังให้การจัดงานศิลปหัตถกรรมของนักเรียน เป็นเวทีให้นักเรียนแสดงออกถึงความรู้ความสามารถ พัฒนาทักษะด้านวิชาการ วิชาชีพ ดนตรี นาฏศิลป์ ศิลปะ ทักษะชีวิต โดยเน้นหลักกิจกรรมพัฒนาสมอง การลงมือปฏิบัติ และสุขภาพ ให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ด้วยตัวเอง นักเรียนได้ฝึกฝนทักษะฝีมือในด้านที่ถนัด พัฒนาให้เกิดความเป็นเลิศ เพื่อใช้ในการประกอบอาชีพในอนาคต และเผยแพร่ผลงานสู่สายตาสาธารณชน โดยการจัดงานได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบและวิธีการจัดการแข่งขันให้เป็นปัจจุบัน ไม่เน้นที่การแพ้ ชนะ แต่เน้นการพัฒนา การแสดงออกให้เต็มกำลัง ให้เกียรติกับตนเอง และเพื่อนที่ร่วมกิจกรรม รวมถึงการพัฒนาความสามารถในการควบคุมตนเองในสถานการณ์นั้น ๆ สอดรับกับนโยบายและบริบทการจัดการศึกษาที่เปลี่ยนไป สอดคล้องกับแนวทางการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ โดยมีการให้ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ของแต่ละภูมิภาค และการส่งเสริม SOFT POWER ในบริบทของแต่ละท้องถิ่น ที่มีความโดดเด่นแตกต่างกันออกไป
ขอบคุณที่มาภาพและข่าวจาก สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
►รับชมย้อนหลัง พิธีเปิดงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ระดับชาติ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ครั้งที่ 70 ปีการศึกษา 2565 จังหวัดร้อยเอ็ด
fb.watch/ioESAXSwN0/
►ดาวน์โหลดภาพเพิ่มเติม จากเพจ สพม.ร้อยเอ็ด
photos.app.goo.gl/MGJKbXDUDPihWUWD8 และ ภาพใน Google Drive
►ผลการแข่งขันงานศิลปหัตถกรรมนักเรียนระดับชาติ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ครั้งที่ 70 ปีการศึกษา 2565
esan70.sillapa.net/sp-esan/