ผลการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ 12/2565 วันอังคารที่ 27 ธันวาคม 2565 โดยมีนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธานการประชุม และมี รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการ ก.ค.ศ. เป็นเลขานุการการประชุม ซึ่งที่ประชุมได้มีการพิจารณาเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาและมีมติที่สำคัญ ดังนี้
ตามที่คณะรัฐมนตรี ได้มีมติจัดตั้งโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยขึ้น และกำหนดว่าการคัดสรรบุคลากรที่เข้าไปปฏิบัติหน้าที่ในโรงเรียน นั้น ต้องมีการคัดสรรเป็นพิเศษ ดังนั้นสำนักงาน ก.ค.ศ. จึงได้จัดทำ (ร่าง) หลักเกณฑ์และวิธีการย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เป็นการเฉพาะเพื่อให้ได้บุคคลที่มีความรู้ ความสามารถเหมาะสมโดย (ร่าง) หลักเกณฑ์ดังกล่าว สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. การย้ายครูเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณฯ กำหนดเป็น “การย้ายเพื่อประโยชน์ของทางราชการ” มี 2 กรณี คือ การย้ายเพื่อพัฒนาหรือยกระดับคุณภาพการศึกษา และการย้ายเพื่อแก้ไขปัญหาในการบริหารจัดการสถานศึกษา โดยมีการดำเนินการ ดังนี้
1.1 การย้ายเพื่อพัฒนาหรือยกระดับคุณภาพการศึกษา
1) ให้ สพฐ. ในฐานะส่วนราชการต้นสังกัด กำหนดรายละเอียดความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ คุณลักษณะ และองค์ประกอบรายละเอียดตัวชี้วัดในการประเมิน เกณฑ์การพิจารณา และเกณฑ์คะแนนขั้นต่ำ
ที่จะได้รับการพิจารณาย้าย
2) ผู้ที่จะย้ายมาดำรงตำแหน่งครู ใน รร. วิทยาศาสตร์จุฬาภรณฯ ต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้
1) ดำรงตำแหน่งครู และไม่ติดเงื่อนไขตามที่ ก.ค.ศ. กำหนด ยกเว้น ย้ายครู รร. วิทยาศาสตร์จุฬาภรณฯ ด้วยกัน
2) เป็นผู้มีความรู้ ความสามารถประสบการณ์ และคุณลักษณะ ตามที่ สพฐ. กำหนด
3) ไม่อยู่ระหว่างลาศึกษาต่อเต็มเวลา
4) มีอายุราชการเหลือไม่น้อยกว่า 4 ปี นับถึงวันที่ 30 กันยายน ของปีที่ครบเกษียณฯ ยกเว้น ย้ายครู รร. วิทยาศาสตร์จุฬาภรณฯ ด้วยกัน
3) การได้มาซึ่งผู้ที่มีคุณสมบัติเพื่อเสนอ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา พิจารณา มี 2 วิธี คือ
วิธีที่ 1 ให้ สพม. ตั้งคณะทำงาน ประกอบด้วย ผอ.สพม. ที่ รร. วิทยาศาสตร์จุฬาภรณฯ สังกัดอยู่ และ ผอ.รร. /รอง.ผอรร. /หัวหน้ากลุ่มสาระฯ ของ รร. วิทยาศาสตร์จุฬาภรณฯ ที่มีตำแหน่งว่าง ร่วมกันเสนอรายชื่อผู้ที่จะพิจารณาให้ย้าย
วิธีที่ 2 คือ ให้ครูผู้ที่มีคุณสมบัติสามารถแจ้งความประสงค์ขอย้ายไปดำรงตำแหน่งใน รร. วิทยาศาสตร์จุฬาภรณฯได้เอง โดยให้เลือกแสดงความประสงค์ได้เพียงเขตพื้นที่การศึกษาเดียว
4) เมื่อ รร. วิทยาศาสตร์จุฬาภรณฯ มีตำแหน่งว่าง ให้ สพม. ประกาศตำแหน่งว่าง คุณสมบัติ รายละเอียดที่ สพฐ. กำหนด โดยความเห็นชอบของ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา และดำเนินการให้ได้มาซึ่งผู้ที่จะพิจารณาให้ย้ายและขอความเห็นคณะกรรมการสถานศึกษาที่รับย้าย ก่อนเสนอคณะกรรมการกลั่นกรองการย้ายเพื่อประเมินตามองค์ประกอบและรายละเอียดตัวชี้วัดที่ สพฐ. กำหนด และพิจารณากลั่นกรองการย้าย แล้วจึงเสนอ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา พิจารณาย้าย หากมีมติอนุมัติผู้มีอำนาจสั่งบรรจุและแต่งตั้ง ออกคำสั่งย้าย
1.2 การย้ายกรณีเพื่อแก้ปัญหาในการบริหารจัดการสถานศึกษา
เป็นกรณีที่มีข้อเท็จจริงว่าหากให้ครูใน รร. วิทยาศาสาตร์จุฬาภรณฯ ผู้นั้น ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจะเป็นปัญหาอุปสรรค ให้มีการสอบสวนข้อเท็จจริงก่อนเสนอคณะกรรมการกลั่นกรองการย้ายและ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา พิจารณา โดยการพิจารณาต้องคำนึงถึงความเหมาะสม ประโยชน์ของทางราชการ และความเป็นธรรมแก่ผู้นั้นด้วย ทั้งนี้ ให้พิจารณาย้ายไปแต่งตั้งใน รร. วิทยาศาสตร์จุฬาภรณฯ ด้วยกันก่อน
2. กรณี ครู รร. วิทยาศาสตร์จุฬาภรณฯ ประสงค์จะย้ายออกไปสถานศึกษาอื่น ที่มิใช่ รร. วิทยาศาสตร์จุฬาภรณ์ฯ ให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการย้ายครูฯ ว 18/2565
ตามที่ ก.ค.ศ. ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งศึกษาธิการจังหวัด และรองศึกษาธิการจังหวัด (ว 11/2563) ซึ่งได้กำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครเข้ารับการคัดเลือกในตำแหน่งศึกษาธิการจังหวัด เช่น กำหนดให้ดำรงตำแหน่งรองศึกษาธิการจังหวัด มาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี เป็นผู้มีสิทธิสมัครเข้ารับการคัดเลือกในตำแหน่งศึกษาธิการจังหวัด ซึ่งไม่สอดคล้องกับมาตรฐานตำแหน่งที่ ก.ค.ศ. กำหนด ที่กำหนดเป็นตำแหน่งประเภทอำนวยการ ระดับต้น จึงควรเปิดโอกาสให้กว้างขึ้น ให้ข้าราชการในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ที่มีลักษณะการปฏิบัติหน้าที่เช่นเดียวกับตำแหน่งประเภทอำนวยการ ผู้ดำรงตำแหน่งประเภทอำนวยการ ระดับต้น และเป็นผู้มีความรู้ ความสามารถ มีประสบการณ์ในงานที่เกี่ยวข้องมีสิทธิสมัครเข้ารับการคัดเลือกในตำแหน่งศึกษาธิการจังหวัดได้
อีกทั้งในมาตรฐานตำแหน่งที่ ก.ค.ศ. กำหนด ให้ ก.ค.ศ. สามารถกำหนดตำแหน่งอย่างอื่นที่ ก.ค.ศ. กำหนด เพื่อใช้เป็นคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งศึกษาธิการจังหวัด ซึ่งบุคคลที่เคยมีสิทธิสมัครเข้ารับการคัดเลือกก็ยังคงมีสิทธิอยู่เดิม แต่ควรเปิดโอกาสให้ข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับชำนาญการพิเศษ มาแล้วไม่น้อยกว่า 4 ปี และปฏิบัติหน้าที่ ผอ.ภารกิจ หรือ ผอ.กลุ่ม หรือ ผอ.ศูนย์ มาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี มีสิทธิสมัครเข้ารับการคัดเลือกเพื่อเข้าสู่ตำแหน่งศึกษาธิการจังหวัดได้อีกด้วย
สำหรับคุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครเข้ารับการคัดเลือกในตำแหน่งรองศึกษาธิการจังหวัด เนื่องจากมาตรฐานตำแหน่งรองศึกษาธิการจังหวัด กำหนดให้มีประสบการณ์ในงานที่เกี่ยวข้องสำหรับตำแหน่งประเภทอำนวยการ หรือตำแหน่งอย่างอื่นที่ ก.ค.ศ. กำหนด ซึ่ง ก.ค.ศ. ยังมิได้กำหนดระยะเวลาของประสบการณ์ในงานที่เกี่ยวข้องสำหรับตำแหน่งอย่างอื่นที่ ก.ค.ศ. กำหนดในตำแหน่งรองศึกษาธิการจังหวัด ในครั้งนี้จึงเห็นควรกำหนดประสบการณ์และระยะเวลาของประสบการณ์ในงานที่เกี่ยวข้องสำหรับตำแหน่งอย่างอื่นที่ ก.ค.ศ. กำหนด เพื่อเป็นคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งรองศึกษาธิการจังหวัด ได้แก่ ข้าราชการ สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
- ตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค. (1) ที่มีวิทยฐานะชำนาญการพิเศษ
- ตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค. (2) ตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับชำนาญการพิเศษ ที่มีประสบการณ์ในการปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการกลุ่ม หรือหัวหน้ากลุ่ม หรือหัวหน้าฝ่าย หรือหัวหน้าหน่วย แล้วแต่กรณี มาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี
- ข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับชำนาญการพิเศษ ที่มีประสบการณ์ในการปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการกลุ่ม หรือหัวหน้ากลุ่ม หรือหัวหน้าฝ่าย หรือหัวหน้าหน่วย แล้วแต่กรณี มาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี
ทั้งนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้ข้าราชการในกลุ่มนี้มีสิทธิเข้ารับการคัดเลือกในตำแหน่งรองศึกษาธิการจังหวัดได้
นอกจากนี้ ได้แก้ไขหลักเกณฑ์และวิธีการฯ ว 11/2563 เฉพาะคุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครเข้ารับการคัดเลือกในตำแหน่งศึกษาธิการจังหวัดและรองศึกษาธิการจังหวัด ที่กำหนดไว้ในหลักเกณฑ์ ข้อ 2 นอกนั้นคงเดิม และเห็นควรยกเลิกการกำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครเข้ารับการคัดเลือกฯ เพิ่มเติม ตามหนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ. ด่วนที่สุด ที่ ศธ 0206.5/208 ลงวันที่ 8 มิถุนายน 2563 ไปพร้อมกันด้วย โดยเห็นควรกำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิเข้ารับการคัดเลือก ดังนี้
“2. ผู้มีสิทธิสมัครเข้ารับการคัดเลือก ต้องมีคุณสมบัติดังนี้
ตำแหน่งศึกษาธิการจังหวัด ดำรงตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง ดังต่อไปนี้
1) ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัด/กรุงเทพมหานคร ผู้อำนวยการสำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัด
2) ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา หรือข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
(1) ประเภทอำนวยการ ระดับต้น มาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี หรือ
(2) ตำแหน่งอย่างอื่นที่ ก.ค.ศ. กำหนด และ
3) มีประสบการณ์ในงานที่เกี่ยวข้องสำหรับตำแหน่งประเภทอำนวยการ หรือตำแหน่งอย่างอื่นที่ ก.ค.ศ. กำหนด
ตำแหน่งรองศึกษาธิการจังหวัด ดำรงตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง ดังต่อไปนี้
1) รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัด/กทม. รองผู้อำนวยการสำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัด
2) ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา หรือข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
(1) ตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับชำนาญการพิเศษ มาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี
(2) ตำแหน่งประเภททั่วไป ระดับอาวุโส มาแล้วไม่น้อยกว่า 6 ปี
(3) ตำแหน่งอย่างอื่นที่เทียบเท่า (1) และ
3) มีประสบการณ์ในงานที่เกี่ยวข้องสำหรับตำแหน่งประเภทอำนวยการ หรือตำแหน่งอย่างอื่นที่ ก.ค.ศ. กำหนด”
ที่มา สำนักงาน ก.ค.ศ.