เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2565 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ ครม.ได้มีมติประกาศกำหนดให้ 10 จังหวัดและกรุงเทพมหานคร เป็นพื้นที่ปฏิรูปการบริหารและการจัดการศึกษาเพื่อสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมการศึกษา ตามที่คณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ที่มี ศ.ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติเห็นชอบแล้ว ดังนี้
- สุโขทัย
- แม่ฮ่องสอน
- กระบี่
- ตราด
- สระแก้ว
- กรุงเทพมหานคร
- จันทบุรี
- ภูเก็ต
- สงขลา
- สุราษฎร์ธานี
- อุบลราชธานี
ซึ่งเป็นการประกาศเพิ่มเติมจากปัจจุบันที่มี 8 จังหวัดพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ได้แก่ ศรีสะเกษ เชียงใหม่ ระยอง กาญจนบุรี นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสตูล ซึ่งหลังจากที่ 11 จังหวัดได้รับการประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งละจังหวัด จะแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เพื่อดำเนินการสรรหา และจัดส่งรายชื่อคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาของจังหวัด ไม่เกิน 21 คน ส่งมายังสำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา(สบน.) เพื่อเสนอขอความเห็นชอบต่อไป
รมว.ศธ. กล่าวต่อไปว่า พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ตาม พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 เกิดจาก 2 แนวคิดหลัก คือ
1. Bottom-Up Solution แนวคิดการสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาและเพิ่มประสิทธิภาพ โดยการลองผิดลองถูกของผู้ปฏิบัติในพื้นที่ต่างๆ
2.Sandbox (กระบะทราย) แนวคิดการสร้างพื้นที่ที่มีปัจจัยเกื้อหนุนให้ผู้ปฏิบัติสามารถทำการทดลองเพื่อสร้างนวัตกรรมได้
ดังนั้น พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จึงเป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้ผู้เกี่ยวข้องกล้าทดลองทำสิ่งใหม่ ๆ แก้ปัญหาด้วยแนวคิดใหม่ หากล้มเหลว ไม่ประสบผลสำเร็จก็ลุกขึ้นมาปรับปรุงทดลองพัฒนาใหม่ จนกว่าจะได้ผลสัมฤทธิ์ที่ดี ซึ่งทั้ง 11 จังหวัดดังกล่าวก็ได้ดำเนินการเสนอความพร้อมและคำขอจัดตั้งตามกระบวนการและผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาแล้วว่า มีความพร้อมที่จะใช้แนวคิด Sandbox ในการนำร่องยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของผู้เรียนและลดความเหลื่อมล้ำ โดยการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่
“ปัจจุบันมีสถานศึกษานำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา 8 จังหวัด จำนวนทั้งสิ้น 541 โรงเรียน แยกเป็น สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) 444 โรงเรียน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) 45 โรงเรียน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) 52 โรงเรียน โดยตั้งอยู่ในจังหวัดศรีสะเกษ 163 โรงเรียน เชียงใหม่ 104 โรงเรียน ระยอง 82 โรงเรียน กาญจนบุรี 60 โรงเรียน นราธิวาส 53 โรงเรียน ปัตตานี 32 โรงเรียน ยะลา 30 โรงเรียน และสตูล 17 โรงเรียน ซึ่งจากการติดตามผลการดำเนินงานช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเป็นที่น่าพอใจ โดยพบว่า เกิดการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ เช่น กฎระเบียบส่วนใหญ่ได้รับการปลดล็อกแล้วโดยเฉพาะวิชาการ, จังหวัดมีเอกลักษณ์ มีส่วนร่วมในการพัฒนา, โรงเรียนนำร่องที่เปลี่ยนแปลงเด่นวิชาการ, มีการปรับหลักสูตร 89% , เลือกสื่อได้อิสระ 65% , ปรับการวัดและประเมินผล 78% ส่งผลให้เด็กๆได้รับโอกาสเรียนรู้แบบมีความหมายและประยุกต์ใช้ความรู้มากขึ้น มีกลไกเชิงพื้นที่รับฟังปัญหาและความต้องการของคนในพื้นที่ มีเป้าหมายร่วมกัน เกิดการมีส่วนร่วมและความรับผิดชอบในการพัฒนา แสวงหา และเลือกนวัตกรรมที่หลากหลายมาใช้ ให้เหมาะสมกับปัญหาและสอดคล้องกับบริบทพื้นที่ โดยขณะนี้การประเมินผลพื้นที่ทั้งระบบอยู่ระหว่างดำเนินการโดยคณะผู้ประเมินอิสระ ซึ่งจะผลสรุปได้ในสิ้นภาคเรียนที่ 2/2565 นี้”น.ส.ตรีนุช กล่าว.
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก FOCUSNEWS วันที่ 29 พฤศจิกายน 2565