เมื่อวันที่ 28 พ.ย.2565 ศ.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ ประธานคณะกรรมการการศึกษาาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุม กพฐ. ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบ แนวทางขับเคลื่อนการจัดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมือง ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เสนอ โดยขั้นตอนต่อไป สพฐ.จะจัดทำ (ร่าง) ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เรื่องการบริหารจัดการโครงสร้างหลักสูตรสถานศึกษา 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ และ 1 รายวิชาพื้นฐานประวัติศาสตร์ของสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อให้ รมว.ศึกษาธิการลงนาม อย่างไรก็ตาม การแยกวิชาประวัติศาสตร์ครั้งนี้ ไม่ได้เพิ่มชั่วโมงเรียน ไม่ได้เพิ่มภาระผู้เรียนและครู เพียงแต่จะจัดการเรียนประวัติศาสตร์ให้มีเป้าหมายที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ซึ่งคณะกรรมการ กพฐ.ได้หารือร่วมกันแล้ว เห็นว่าการเรียนวิชาประวัติศาสตร์ควรปรับให้มีการเชื่อมโยงกับหน้าที่พลเมือง และสาระวิชาการเรียนรู้อื่นๆ ด้วย ซึ่งต่อไป สพฐ.จะไปจัดรายละเอียดการปรับปรุงหลักสูตรเนื้อหาให้มีความเหมาะสม ครอบคลุม ทันสมัย และเชื่อมโยงกับสาระวิชาอื่นๆ
ด้าน ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า สาเหตุที่ต้องแยกวิชาประวัติศาสตร์ออกมา เพราะวันนี้ทุกคนต่างพูดกันว่าอยากให้คนไทยมีความภาคภูมิใจในความเป็นชาติ ต้องการสร้าง Soft Power ที่มาจากวัฒนธรรมประเพณีดีๆ ของประเทศ การที่จะเกิดสิ่งเหล่านี้ได้ เราต้องเรียนรู้จากอดีตว่าเรามีวัฒนธรรม มีประวัติศาสตร์อะไรบ้างที่ดีงาม สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ หากจะมาปรับเข้ากับยุคสมัยปัจจุบันควรจะต่อยอดอย่างไร และเชื่อมโยงกันอย่างไร เพื่อให้เป็นความภาคภูมิใจที่สามารถนำวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี อาหารดีๆ หรือทรัพยากรดีๆในอดีตมาปรับปรุงเข้ากับปัจจุบัน จึงต้องนำวิชาประวัติศาสตร์ออกมาเป็นการเฉพาะ เพื่อให้ทุกคนสามารถตระหนักได้ว่าประวัติศาสตร์สามารถเชื่อมโยงการเรียนรู้ได้ทุกศาสตร์
“การแยกวิชาประวัติศาสตร์ มีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย คนที่ไม่เห็นด้วย เราต้องสร้างความเข้าใจ และรับฟังความเห็นมาปรับใช้ต่อไป อย่างไรก็ตาม ในการประชุมวันนี้ ที่ประชุมเห็นร่วมกันว่า ควรนำวิชาประวัติศาสตร์แยกออกมา เพื่อนำไปเชื่อมโยงกับวิชาอื่นๆ เพราะการสอนวิชาประวัติศาสตร์แบบเดิม ๆ นั้น ใช้ไม่ได้แล้ว ต้องมาเรียนแบบใหม่ ครูต้องปรับวิธีเรียน เปลี่ยนวิธีสอนใหม่ ให้สอดรับกับสิ่งที่เราต้องการ คือ อยากเห็นเด็กทุกคนในชาติมีความภาคภูมิใจ รักหวงแหนบ้านเกิด แผ่นดิน บ้านเกิดเมืองนอนของตน และแสวงหาวัฒนธรรมที่ดีงามในอดีต เพื่อมาต่อยอดในอนาคต” เลขาธิการ กพฐ.กล่าวและว่า ทั้งนี้ คาดว่า จะเสนอ (ร่าง) ประกาศ ศธ. เรื่องการบริหารจัดการโครงสร้างหลักสูตรสถานศึกษา 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ และ 1 รายวิชาพื้นฐานประวัติศาสตร์ของสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้ รมว.ศึกษาธิการ ลงนามภายในสัปดาห์นี้ และระหว่างนี้ สพฐ.จะเตรียมตัวปรับหลักสูตร ตัวชี้วัด ให้ทันใช้ในปีการศึกษาถัดไป และต้องทำความเข้าใจกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) สถานศึกษา ครู นักเรียน และผู้ปกครองด้วย
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่่มเติมได้จาก FOCUSNEWS วันที่ 28 พฤศจิกายน 2565