เมื่อวันที่ 28 พ.ย. น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ว่า ที่ประชุมได้หารือถึงการแยกรายวิชาพื้นฐานประวัติศาสตร์ออกมาเป็น 1 รายวิชาอย่างเป็นทางการ ซึ่งจะอยู่ในร่างประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง การบริหารจัดการโครงสร้างหลักสูตรสถานศึกษา 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ และ 1 รายวิชาพื้นฐานประวัติศาสตร์ของสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน พร้อมกับพิจารณาแนวทางขับเคลื่อนการจัดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมือง ปีงบประมาณ 2566 เพื่อเป็นแนวทางให้ต้นสังกัดของสถานศึกษา และสถานศึกษาสามารถจัดกิจกรรมการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยที่ประชุมมีการทบทวนว่าเมื่อแยกวิชาประวัติศาสตร์ออกมาแล้วเกิดประโยชน์อย่างไร และส่งผลกระทบด้านอื่นๆหรือไม่
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า สำหรับการแยกรายวิชาพื้นฐานประวัติศาสตร์ออกมาเป็น 1 รายวิชานั้น จะไม่สร้างความยุ่งยากในการจัดการเรียนการสอน หรือสร้างภาระงานให้แก่ครูหรือนักเรียน เพราะเราต้องการให้การเรียนรู้วิชาประวัติศาสตร์ไม่ใช่แค่การสู้รบของประเทศไทยในอดีตเท่านั้น แต่การเรียนประวัติศาสตร์มีอย่างหลากหลายไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ท้องถิ่นหรือแม้กระทั่งประวัติศาสตร์โลก ซึ่งการเรียนประวัติศาสตร์แบบท่องจำเหมือนที่ผ่านมาอาจไม่ใช่คำตอบของการทำให้เด็กและเยาวชนไทยได้มีความภาคภูมิใจในความเป็นชาติเท่าที่ควร ดังนั้นโรงเรียนจะต้องมุ่งเน้นให้เด็กรุ่นใหม่ตื่นตัวกับการเรียนประวัติศาสตร์รูปแบบใหม่มากขึ้น เช่น การใช้พิพิธภัณฑ์เป็นสื่อ การใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นและต่อยอดประวัติศาสตร์สู่งานอาชีพ การบูรณาการประวัติศาสตร์กับรายวิชาอื่น และการศึกษานอกสถานที่และแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ เป็นต้น
“การแยกวิชาประวัติศาสตร์ออกมาไม่ได้เป็นการบังคับให้เด็กรับชาติ แต่ต้องการปรับการเรียนประวัติศาสตร์ของเด็กให้มีความทันสมัยและน่าสนใจเท่านั้น ซึ่งไม่ได้เป็นการเพิ่มชั่วโมงเรียน และไม่ได้กระทบกับงบประมาณ แต่เป็นการออกแบบโครงสร้างการเรียนใหม่ โดยเด็กจะเรียนเท่าเดิม แต่เน้นการศึกษาประวัติศาสตร์ เพื่อเชื่อมอดีตสู่อนาคตในมิติเศรษฐกิจสังคมและหน้าที่พลเมือง อย่างไรก็ตามจากนี้ไปการดำเนินการเรื่องนี้จะต้องย้ำการอบรมและพัฒนาครูเกี่ยวกับการสอนประวัติศาสตร์ให้มากขึ้น รวมถึงการบรรจุครูใหม่จะต้องมีครูเอกประวัติศาสตร์ โดยจะมอบ ก.ค.ศ.เกลี่ยอัตราโครงสร้างการบรรจุครูประวัติศาสตร์ด้วย” รมว.ศธ. กล่าว.
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก เดลินิวส์ วันที่ 28 พฤศจิกายน 2565
Advertisement
เมื่อวันที่ 28 พ.ย.2565 น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)เปิดเผยภายหลังมอบนโยบายคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(บอร์ด.กพฐ.)ทั้งนี้ได้ให้สัมภาษณ์ กรณีออกประกาศ ศธ.ให้แยกวิชาพื้นฐานประวัติศาสตร์ออกจากกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญเรื่องประวัติศาสตร์ อยากให้ทุกคนตระหนักรู้ ให้รักชาติความภาคภูมิใจในความเป็นชาติไทย ซึ่งวันนี้ตนได้มอบหมายให้บอร์ด กพฐ.ไปพิจารณาเห็นชอบการแยกวิชาประวัติศาสตร์ออกมาเป็นวิชาอีกรายวิชาหนึ่ง จากปกติที่เรามี 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ แต่อย่างไรก็ตามสิ่งที่เหนือกว่านั้นก็คือ ตนต้องการทราบว่าเด็กได้อะไรจากการเรียนวิชาประวัติศาสตร์ ซึ่งการเรียนแบบท่องจำอาจไม่ใช่คำตอบของการทำให้เรามีความภาคภูมิใจในความเป็นชาติไทย ดังนั้นเพื่อให้เด็กมีความตื่นตัวและเข้าใจบรรพบุรุษที่ได้เสียสละ เขามีกระบวนการคิดและผ่านช่วงเวลาเหล่านั้นมาได้อย่างไร ทำอย่างไรจะให้ครูมีความสามารถให้เด็กสนุกกับการเรียนประวัติศาสตร์ ไม่ใช่เน้นเรื่องการท่องจำอย่างเดียว ซึ่งเราจะต้องนำกระบวนการเรียนรู้แบบ Active Learning มาใช้ มีกระบวนการคิดวิเคราะห์ด้วยตัวเอง
“ดิฉันคิดว่า วิชาประวัติศาสตร์ เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาชาติ เพราะเราได้เรียนรู้กระบวนการคิดของบรรพบุรุษ ว่าเขามีกระบวนการคิดอย่างไรถึงนำชาติไทยผ่านวิกฤตเหล่านั้นมาได้ ซึ่งในอนาคตจะต้องมีการอบรมพัฒนาครูสอนประวัติศาสตร์ให้มีความเข้าใจเรื่องนี้ด้วย รวมถึงต้องหารือคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.)ในการพิจารณาบรรจุครูสอนวิชาประวัติศาสตร์ด้วย ”รมว.ศึกษาธิการ
ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.)กล่าวว่า การแยกวิชาประวัติศาสตร์ออกมาจากกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม จะไม่กระทบต่องบประมาณใด ๆ ทั้งสิ้น และจะไม่มีการพิมพ์หนังสือระเบียนแสดงผลการเรียน(ปพ.1) เพราะในวิชาสังคมศึกษามี 4 กลุ่มวิชาอยู่แล้ว และหนึ่งในนั้นก็มีวิชาประวัติศาสตร์รวมอยู่ด้วย ซึ่งในเชิงธุรการจะไม่มีการแก้ไขอะไร ขณะเดียวกันก็จะไม่เพิ่มเวลาเรียน เพียงแต่เราอยากออกแบบโครงสร้างการเรียนใหม่เท่านั้น ไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไร และในการผลิตครูก็จะได้ผลิตครูประวัติศาสตร์โดยตรงด้วย
ด้าน ศ.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.)กล่าวว่า การแยกวิชาประวัติศาสตร์ออกมาครั้งนี้เราต้องการเน้นการศึกษาประวัติศาสตร์ เพราะประวัติศาสตร์เป็นการเชื่อมโยงอดีตสู่อนาคต เชื่อมโยงทั้งมิติการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม หน้าที่พลเมือง ซึ่งเป็นตัวที่จะช่วยการเชื่อมโยงหน้าที่และการพัฒนาสังคม แทนที่จะเรียนแบบทั่วไป แต่การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะเรียนรู้ถึงความทุ่มเทเสียสละในอดีตที่ผ่านมา แนวคิดต่าง ๆ ในการสร้างชาติ พัฒนาเศรษฐกิจสังคม และการปกครองเป็นอย่างไร เพื่อนำไปสู่กระบวนการคิดที่เหมาะสม ไม่ใช่การเรียนแบบท่องจำ เป็นต้น
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก FOCUSNEWS วันที่ 28 พฤศจิกายน 2565