รองเลขาธิการกพฐ. ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม รร.พรหมานุสรณ์ จ.เพชรบุรี ติดตามโครงการการศึกษาทางไกลรูปแบบสื่อสารทองทาง เสริมทัพเฟส 2 มุ่งคุณภาพผู้เรียน
เมื่อวันที่ 23 พ.ย.ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ตนได้นำทีมบุคลากรสวก. สทร. สทศ. และ ศนฐ. สพฐ. ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโรงเรียนในโครงการจัดการศึกษาทางไกลแบบสื่อสารสองทาง สำหรับระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ระยะที่ 2 ณ โรงเรียนพรหมานุสรณ์ จังหวัดเพชรบุรี สำหรับโครงการจัดการศึกษาทางไกลแบบสื่อสารสองทางนั้น เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนโรงเรียนปลายทางในโครงการ พร้อมทั้งพัฒนาศักยภาพการจัดการเรียนการสอนของครูในโครงการ และพัฒนารูปแบบการจัดการศึกษาทางไกลแบบสื่อสารสองทางระดับมัธยมศึกษาตอนต้นให้มีประสิทธิผลดียิ่งขึ้น โดยจุดเด่นของโครงการ เป็นการดำเนินงานที่มุ่งลดความเหลื่อมล้ำ และเพิ่มโอกาสในการพัฒนาตนเองของผู้เรียน ด้วยความร่วมมือของครู ทั้งในโรงเรียนต้นทางและโรงเรียนปลายทาง ซึ่งโรงเรียนต้นทางที่ รองเลขาธิการ กพฐ. และคณะฯ เข้าตรวจเยี่ยมในครั้งนี้ คือ โรงเรียนพรหมานุสรณ์ สังกัด สพม.เพชรบุรี ซึ่งจัดการเรียนรู้แบบสื่อสารสองทางไปยังโรงเรียนปลายทาง 3 โรง ได้แก่ โรงเรียนอนุบาลวัดบางนางบุญ สพป.ปทุมธานี เขต 1 โรงเรียนบ้านหนองปืนแตก สพป.เพชรบุรี เขต 2 และโรงเรียนทีปังกรณ์วิทยาพัฒน์ (วัดสุนทรสถิตย์) ในพระบรมราชูปถัมภ์ สพป.สมุทรสาคร โดยรองเลขาธิการ กพฐ. นำบุคลากรจาก สพฐ. เข้าตรวจเยี่ยม ให้กำลังใจ และให้ข้อเสนอแนะในการพัฒนาคุณภาพการดำเนินงาน ร่วมกับมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งทั้ง 4 โรงเรียนร่วมมือกันเป็นอย่างดี และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการพัฒนาการจัดการศึกษาแบบสื่อสารสองทาง มุ่งเน้นยกระดับคุณภาพต่อไป
รองเลขาธิการกพฐ.กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้สิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนการจัดการศึกษา คือ การพัฒนาคุณภาพของผู้เรียน จากที่ได้มาเยี่ยมโรงเรียนพรหมานุสรณ์ ซึ่งเป็นโรงเรียนต้นทาง ได้เห็นความพร้อมในการถ่ายทอดพร้อมเป็นพี่ใหญ่ที่ดีที่ช่วยสนับสนุนโรงเรียนปลายทางในทุกเรื่อง นอกจากนี้ยังเป็นโรงเรียนมาตรฐานสากล ซึ่งสอน IS และระบบการคิด TOK และขับเคลื่อนทักษะการอ่านด้วยบันได 6 ขั้น อีกทั้งยังสนับสนุนนักเรียนในด้านภาษา การแข่งขันวิทยาศาสตร์ และการแข่งขันต่างๆ จนทำให้โรงเรียนได้รับรางวัล OBEC Award ซึ่งการสนับสนุนกิจกรรมให้นักเรียนมีเวทีในการดึงศักยภาพของตนเองได้รางวัลเชิงประจักษ์ สอดคล้องกับผลประเมินจากแบบวัดแววของ สวก. ที่ตรงกับความถนัดของนักเรียน ซึ่งแสดงถึงต้นแบบที่จัดการเรียนการสอนตรงตามความถนัดและสนใจของนักเรียนทำให้นักเรียนได้รางวัลอย่างหลากหลาย
อีกข้อที่น่าชื่นชม คือ ความร่วมมือกัน ช่วยเหลือกันของโรงเรียนต้นทาง โรงเรียนปลายทาง ดูได้จากแผนการดำเนินงานของโรงเรียนพรหมานุสรณ์ ได้มีการจัดประชุมทำแผนร่วมกันระหว่างโรงเรียนต้นทางและโรงเรียนปลายทาง โดยนำครูผู้สอนทั้ง 5 กลุ่มสาระการเรียนรู้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน พร้อมทั้งมีการสร้างสื่อการเรียนการสอนร่วมกัน มีการประชุมชี้แจงทำความเข้าใจเรื่องการวัดและประเมินผลให้กับครูทุกคนของทั้งโรงเรียนต้นทางและปลายทาง มีการจัดค่ายสัมพันธ์ครู-นักเรียนต้นทางและปลายทาง ร่วมกันทำกิจกรรมที่โรงเรียนต้นทาง พร้อมทั้งจัดการนิเทศไปเยี่ยมการเรียนการสอนที่โรงเรียนปลายทางทุกแห่ง และทดสอบระบบการถ่ายทอด สำรวจตรวจเช็กอุปกรณ์ เพื่อซ่อมแซมอุปกรณ์ที่ชำรุดให้ใช้ได้เป็นปกติ ให้สามารถถ่ายทอดได้อย่างราบรื่น จะเห็นได้ว่าเมื่อโรงเรียนต้นทางมีความใส่ใจ เอาใจใส่ช่วยเหลือโรงเรียนปลายทาง ก็จะทำให้ก้าวข้ามอุปสรรคและนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายไปด้วยกันในที่สุด
นอกจากนี้ การสนับสนุนอย่างดีของทั้งส่วนกลาง สำนักที่เกี่ยวข้อง และเขตพื้นที่ ยังช่วยให้การพัฒนาการศึกษาเกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงได้รับความอนุเคราะห์จากมูลนิธิทางไกลผ่านดาวเทียมในพระบรมราชูปถัมภ์ได้ช่วยขับเคลื่อนให้เกิดคุณภาพทางการศึกษา ทั้งหมดนี้มาร่วมขับเคลื่อนให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน มาเติมเต็มการศึกษาให้เกิดประสิทธิภาพ ได้ติดตามมาวิเคราะห์สภาพปัญหาด้วยกัน ซึ่งวันนี้เราต้องอาศัยผู้อำนวยการเขตพื้นที่และศึกษานิเทศก์เป็นกลไกในการขับเคลื่อนตามบริบทของพื้นที่ โดยเฉพาะศึกษานิเทศก์ที่เห็นความสำเร็จทำให้เกิดแรงกระเพื่อมไปทั้งประเทศจากตัวอย่าง การจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning วันนี้ทุกฝ่ายจะต้องคุยกันเพื่อให้การพัฒนาเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งรูปแบบวิธีการอาจแตกต่างกันได้แต่มีเป้าหมายเดียวกันคือ คุณภาพของผู้เรียน
.
“ทั้งนี้ สิ่งที่จะดำเนินการต่อไป คือ ร่วมกันหาแนวทางในการวางระบบการถ่ายทอดส่งสัญญาณจากโรงเรียนต้นทาง และการรับสัญญาณของโรงเรียนปลายทาง โดยปรับเปลี่ยนรูปแบบให้เหมาะสม ทันสมัย และมีประสิทธิภาพสำหรับการเรียนการสอน ซึ่ง สทร. จะเป็นเจ้าภาพในการออกแบบโครงการกิจกรรมและจะประชุมขับเคลื่อนไปด้วยกัน โดยจะมีทั้งผู้บริหารโรงเรียน และมีทีม ICT ฝ่ายเทคนิค เข้าร่วมประชุมวางแผนการพัฒนาระบบเพื่อการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นไป สุดท้ายนี้ ขอชื่นชมและขอบคุณมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่ทำให้เกิดโครงการดีๆ เช่นนี้ขึ้น รวมถึงทีมจาก สทร. สทศ. สวก. และ ศนฐ. สพฐ. และทีมเขตพื้นที่ ที่ได้ร่วมมือกันอย่างเต็มความสามารถ ด้วยจุดมุ่งหมายที่ไม่ว่านักเรียนจะอยู่ที่ใด เราจะพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณภาพไปพร้อมๆ กัน ไม่ว่าจะอยู่ต้นทางหรือปลายทาง เราจะทำเป้าหมายเดียวกันให้สำเร็จ คือการทำให้ผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนสูงขึ้น และสูงกว่ามาตรฐานยิ่งๆ ขึ้นไป” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว
ทางด้านนายเสริมฤทธิ์ หวายฤทธิ์ธนกุล ผอ.สทร. กล่าวว่า ได้มาชี้แจงแนวทางบริหารจัดการและการขับเคลื่อนการจัดการเรียนการสอนให้ทุกส่วนร่วมกันวางแผนและพร้อมขับเคลื่อน โดยจะเป็นส่วนกลางในการเขียนแผนโครงการให้มีความครอบคลุม รวมทั้งติดตามหาแนวทางประเด็นปัญหา และวิธีแก้ไขร่วมกัน เพื่อสนับสนุนในส่วนของอุปกรณ์ห้องเรียนสื่อสารสองทาง
นายชนาธิป ทุ้ยแป รักษาการ ผอ.สทศ. กล่าวว่า จากการสัมภาษณ์ครูที่โรงเรียน พบว่าครูมีความพร้อมในการประสานงาน ติดต่อสื่อสารกัน โรงเรียนต้นทางมีการออกแบบการสอนร่วมกันกับโรงเรียนปลายทาง มีใบงานเดียวกัน แบบฝึกหัด ข้อสอบเดียวกัน ขอชื่นชมนักเรียนว่ามีความกล้าคิด กล้าตอบ นักเรียนอาจมีความแตกต่างกันแต่ก็มีการพัฒนาตนเองอยู่ตลอด แต่ละโรงเรียนอาจมีข้อจำกัดแต่ก็พยายามขับเคลื่อนไปได้ และพร้อมจะอบรมครูในเรื่องการวัดและประเมินผลการเรียนรู้
นางรวิภัทร เหล่าคุ้ม รักษาการ หัวหน้าหน่วย ศนฐ. กล่าวว่า ศึกษานิเทศก์แต่ละเขตพื้นที่ มีการวางแผนการพัฒนางานในหลายด้าน และจะมีการวางแผนในการนิเทศติดตามอย่างต่อเนื่อง โดยจะให้โรงเรียนในกลุ่มภูมิภาค ในภาคกลางเป็นโรงเรียนต้นแบบ
นายเอกสิทธิ์ ปิยะแสงทอง ผอ.กลุ่มพัฒนาและส่งเสริมการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ สวก. กล่าวว่า จากการตรวจเยี่ยมการจัดการเรียนการสอนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1/4 ของโรงเรียนพรหมานุสรณ์ ทำให้นักเรียนได้เรียนรู้ร่วมกัน ต้องชื่นชมครูต้นทางที่สามารถจัดการสอนได้อย่างดีเยี่ยม ทำให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการตอบคำถาม เสริมสร้างกระบวนการคิดของเด็กได้เป็นอย่างดี.
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก เดลินิวส์ วันที่ 23 พฤศจิกายน 2565