เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2565 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลัง ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 15 (เวียงเก่าแสนภูวิทยาประสาท) จังหวัดเชียงราย และโรงเรียนศาสตร์พระราชา(วิทยาเขตกู่เต้า) สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่าโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 15 ถือเป็นต้นแบบโรงเรียนที่สามารถจัดการศึกษาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กที่อยู่ห่างไกล เด็กด้อยโอกาสให้มีโอกาสเข้าถึงการศึกษา และยังมีจุดเด่นในเรื่องการจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการพหุปัญญา ที่มีความหลากหลาย มีความทันสมัย ส่งเสริมเรื่องอาชีพ โดยร่วมกับเครือข่ายอาชีวศึกษาในพื้นที่ คือ วิทยาลัยการอาชีพเวียงเชียงรุ้ง จัดการศึกษาแบบทวิศึกษา ให้แก่นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยเป็นการจัดการศึกษาที่สนองต่อความต้องการของผู้เรียน เช่น สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ ช่างไฟฟ้า ช่างยนต์ บัญชี เป็นต้นทำให้เด็กสามารถนำความรู้ที่ได้ไปต่อยอด สร้างอาชีพและมีทางเลือกในการเรียนต่อที่หลากหลาย เพราะสามารถต่อยอดได้ทั้งสายสามัญ และสายอาชีพ
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า จุดเด่นที่สำคัญของโรงเรียน อย่างหนึ่ง คือ มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัล มาใช้ในการจัดการเรียนการสอน การทดสอบนักเรียน จัดทำระบบข้อมูลด้านความปลอดภัยของนักเรียน รวมถึงใช้ในการยื่นวิทยฐานะของครู และการบริหารจัดการผ่านระบบ e-School Master เป็นการลดการใช้กระดาษ Paper Less สอดคล้องกับนโยบายสำนักงานอิเล็กทรอนิกส์ของรัฐบาล จะเห็นได้ว่าเมื่อโรงเรียนนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ ทำให้กระบวนการจัดการศึกษามีความรวดเร็วขึ้น มีความหลากหลาย ตอบสนองความต้องการของเด็กมากขึ้น ทำให้ครูมีเวลาโฟกัสไปที่การจัดการเรียนการสอนมากขึ้นด้วย ถือเป็นการจัดการศึกษาที่ยึดเด็กเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง และที่สำคัญชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการเรียนการสอน แสดงให้เห็นว่าการศึกษาเกิดได้ทุกที่ ไม่เฉพาะในรั้วโรงเรียนเท่านั้น นอกจากนี้ยังเปิดให้ผู้สูงอายุเข้ามาเรียนและสร้างอาชีพได้ด้วย
“โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 15 ถือเป็นโรงเรียนต้นแบบในการสร้างโอกาสทางการศึกษาให้เด็กด้อยโอกาส และเป็นต้นแบบของการจัดการศึกษาที่กล้าเปลี่ยนแปลงเพราะโรงเรียนได้จัดทำหลักสูตรสถานศึกษาที่มีความหลากหลาย ตอบรับกับการเปลี่ยนแปลงของโลก เพราะปัจจุบันทางเลือกของการศึกษามีมากขึ้น และไม่ได้มุ่งสู่มหาวิทยาลัยเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป แต่จะเน้นให้เด็กสามารถประกอบอาชีพได้ และเน้นการจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning ให้เด็กคิดเป็น ลงมือทำจริงสามารถจับต้องอาชีพที่ตนสนใจได้โดยตรง ทั้งนี้ทราบว่า โรงเรียนราชประชานุเคราะห์15 มีโรงเรียนเครือข่ายในพื้นที่ จ.เชียงราย 60 กว่าแห่ง ซึ่งดิฉันได้หารือกับผู้บริหารโรงเรียน และผู้ที่เกี่ยวข้องว่าขณะนี้ ศธ.มีโรงเรียนในสังกัดจำนวนมาก จะสามารถขยายผลอย่างไร ให้โรงเรียนที่มีบริบทใกล้เคียงกัน นำการจัดการศึกษาของโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 15 มาปรับใช้ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการจัดการศึกษาได้ต่อไป”รมว.ศึกษาธิการกล่าว
ด้าน ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.)กล่าวว่าสพฐ.ดูแลจัดการศึกษาให้แก่เด็ก ซึ่งแบ่งเป็น 3 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มแรกเด็กที่มีความสามารถพิเศษที่จะมีกลุ่มโรงเรียนเฉพาะ เช่น กลุ่มโรงเรียนจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย กลุ่มโรงเรียนกาญจนาภิเษก รวมถึงโรงเรียนดังหรือ โรงเรียนที่มีการแข่งขันสูง กลุ่มที่ 2 เด็กปกติทั่วไปที่จะมีโรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนตามปกติ สำหรับเด็กทั่วไป และกลุ่มที่ 3 เด็กด้อยโอกาส เด็กพิการ ก็จะมีสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ(สศศ.) ดูแลโดยมีโรงเรียนพิเศษเฉพาะทาง ได้แก่ โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ และโรงเรียนเฉพาะความพิการ โดยเด็กกลุ่มที่ 3นี้ เป็นกลุ่มที่ควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษในเรื่องของการส่งเสริมอาชีพ เพื่อให้มีอาชีพ มีรายได้ เพียงพอที่จะก้าวข้ามความด้อยโอกาส และลดความเหลื่อมล้ำได้
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก FOCUSNEWS วันที่ 19 ตุลาคม 2565