เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2565 ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวระหว่างประชุมผู้อำนวยสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ทั่วประเทศ 245 เขตพื้นที่ฯ ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ว่า ขณะนี้มีผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯ ที่ได้รับการบรรจุแต่งตั้งใหม่ 77 คน และมีผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯ ที่สลับสับเปลี่ยน ดังนั้นจึงขอโอกาสนี้สื่อสารนโยบายของ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่งยังเน้นขับเคลื่อนนโยบาย เรื่องความปลอดภัย โอกาส คุณภาพและประสิทธิภาพทางการศึกษา เป็นหลัก โดยผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯ มีหน้าที่ที่ต้องเร่งดำเนินการพัฒนาการจัดการศึกษาให้ประสบความสำเร็จ ทั้งนี้ในส่วนของงานประจำที่จะมีการปรับเปลี่ยน สำคัญคือเรื่องของโครงสร้าง ที่จะมีการคืนอำนาจการบริหารงานบุคคล จากคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) มาให้คณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.)เขตพื้นที่ฯ ถือเป็นความท้าทายที่ต้องมีการเตรียมความพร้อมรองรับ เพราะเดิมอ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ ถูกมองว่า มีปัญหา จึงถูกดึงอำนาจไปให้กศจ. ดังนั้น ถือเป็นโอกาสการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ซึ่งผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯ จะต้องแสดงให้เห็นถึงศักยภาพ
เลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อไปว่า อีกเรื่องคือ การบริหารงานบุคคล ซึ่งคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบาย กำลังคนภาครัฐ (คปร.) กำหนดกรอบการบริหารงานบุคลให้ต้องดำเนินการตามภายใต้ข้อจำกัด ผู้อำนวยการเขตพื้นฯ จะต้องบริหารจัดการให้ประสบความสำเร็จ ขณะเดียวกันจะต้องบริหารจัดการงบประมาณ โดยสพฐ. จะผลักดันงบประมาณ ลงไปที่เขตพื้นที่ฯ ซึ่งคาดว่าจะได้เฉลี่ยเขตพื้นที่ฯ ละ 5 ล้านบาท จากปีที่ผ่านมาได้อยู่ที่ประมาณ 4.7 ล้านบาท เพื่อนำไปบริหารจัดการศึกษาให้เกิดประสิทธิภาพ ซึ่งความท้าทายหนึ่งคือ การบริหารจัดการภายในขีดจำกัด คุณภาพโรงเรียนคือตัวชี้วัดความสำเร็จของเขตพื้นที่ฯ การบริหารจัดการแนวใหม่ ไม่ต้องการให้ครูออกจากโรงเรียน แต่ต้องการให้เขตพื้นที่ฯ เคลื่อนตัวจากเขตพื้นที่ฯ ลงไปปฏิบัติร่วมกับโรงเรียน รวมถึงทำหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุน และกำกับดูแลสถานศึกษา ให้มีความเข้มแข็ง
“ผมขอพูดตรงนี้เลยว่า หากใครดูแลพื้นที่ตัวเองไม่เรียบร้อย ไม่พัฒนามีแต่ปัญหา ผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯ ก็ต้องรับผิดชอบ ถ้าเขตให้ปล่อยปละละเลย จนทำให้โรงเรียนมีปัญหา เขตพื้นที่ฯมีปัญหา สพฐ.อาจจะมีพื้นที่ให้ผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯ มาประจำที่สพฐ. ขณะเดียวกัน เขตพื้นที่ฯ ก็ต้องมีที่ให้ผู้อำนวยการโรงเรียนมาประจำที่เขตพื้นที่ฯได้ หากไม่มีความรับผิดชอบ แต่ถ้าเขตพื้นที่ฯใดรับผิดชอบและประสบความสำเร็จ ก็จะได้รับผลตอบแทนที่ดี เท่าทวีคูณ ”ดร.อัมพร กล่าว
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก FOCUSNEWS วันที่ 5 ตุลาคม 2565