เกือบ 3ปี กว่าที่สถานการณ์โควิด-19 จะเริ่มคลี่คลาย ความกดดันจากการเรียนออนไลน์ ต้องใช้ชีวิตอยู่แต่ในบ้าน ขาดโอกาสพบปะเพื่อนฝูงเข้าสังคมและทำกิจกรรมต่างๆ ส่งผลให้เด็กและเยาวชนจำนวนกว่า 2.4 ล้านคน อยู่ในความเสี่ยงของภาวะซึมเศร้า ซ้ำยังต้องเผชิญกับปัญหาการเรียนรู้ถดถอย(Learning Loss) ที่ส่งผลกระทบทั้งในด้านวิชาการ พัฒนาการ อารมณ์และสังคม
โลกในศตวรรษที่ 21 “การเรียนรู้” ถือว่าเป็น “ทักษะ” สำคัญที่จะทำให้คนๆ หนึ่งมีศักยภาพพร้อมรับมือ และอยู่ในโลกแห่งความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเช่นนี้ได้ หลายประเทศต่างตระหนักถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น และปรับเปลี่ยนนโยบายด้านการศึกษา ที่มุ่งเน้นในเรื่องของการสร้างสภาวะแวดล้อมให้เกิด “การเรียนรู้” ที่ครอบคลุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างหรือเปิดพื้นที่ๆ เอื้ออำนวยให้เกิดการเรียนรู้นอกห้องเรียน
มีข้อมูลจาก ผลสำรวจเยาวชน 2022 ของ ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว(คิด for คิดส์) พบว่าองค์ประกอบสำคัญที่จะช่วยให้เกิดการเรียนรู้ภายนอกห้องเรียนได้ดีที่สุดคือ “การมีพื้นที่ให้เด็กๆ ได้ทำกิจกรรม หรือแลกเปลี่ยนพูดคุยกับคนอื่นได้” นอกจากนี้ยังพบว่าการเรียนรู้เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ไม่ได้เกิดแค่ในห้องเรียนหรือกิจกรรมวิชาการเท่านั้น แต่เกิดขึ้นจากประสบการณ์ในชีวิตประจำวัน การสัมผัสสิ่งรอบตัว การมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนรอบข้าง การวิ่งเล่นหรือการออกไปแหล่งเรียนรู้ต่างๆนอกบ้าน
“ในงานสร้างเสริมสุขภาพเด็กและเยาวชนเป็นเป้าหมายลับดับที่หนึ่ง เพราะเป็นวัยที่ก่อร่างสร้างพฤติกรรมที่จะเป็นพื้นฐานในการกำหนดว่าจะมีวิถีชีวิตและสุขภาพไปทางไหน ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องสร้างทั้ง hardware และ software ของเด็ก ซึ่งเวลาที่เราจะใช้สร้างทั้ง 2 ส่วนนี้ ส่วนใหญ่เรามักจะนึกถึงแค่เวลาที่อยู่ในระบบการศึกษา” ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าว
แต่สิ่งหนึ่งที่คนส่วนใหญ่มักหลงลืมไปก็คือ ในระยะเวลา 1 ปี ที่มี 365 วันนั้น กว่าครึ่งหนึ่งเป็นช่วงเวลาที่เด็กๆ ไม่ได้อยู่ในห้องเรียน เพราะเป็นช่วงวันหยุด ทั้งสุดสัปดาห์ นักขัตฤกษ์ ปิดเทอม ซึ่งถ้าปล่อยเวลาเหล่านี้ให้หมดไปกับมือถือหรือคอมพิวเตอร์มากถึง 13-14 ชั่วโมงต่อวัน ก็นับว่าเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย
“ปีหนึ่งๆ มีวันหยุดมากกว่า 150 วัน เราพบว่าเป็นช่วงที่เด็กๆ สามารถเรียนรู้ได้มากกว่าในห้องเรียนเสียอีก เพราะเป็นเวลาอิสระ ที่ไม่มีคนบังคับ แล้วเขาสามารถที่จะใช้ช่วงเวลานี้ไปเรียน ไปศึกษา ไปทำในสิ่งที่ตัวเองสนใจ” ผจก.สสส.ระบุ
คำถามก็คือว่า...แล้ววันหยุดวันว่าง จะทำอะไรที่ตรงกับความต้องการและความสนใจของคนรุ่นใหม่? ตอบโจทย์และเป้าหมายในการสร้างกระบวนการเรียนรู้? ที่จะสามารถปูทางสร้างทักษะชีวิตและทักษะอาชีพที่จำเป็นสำหรับโลกและการทำงานในยุคศตวรรษที่ 21 ได้
“เวลาว่างคือเวลาที่เป็นอิสระ ได้ทำอะไรตามที่ตัวเองชอบ เวลาที่ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย และเป็นเวลาอื่นนอกเหนือจากเวลาเรียนหรือเวลาทำงาน” เป็นข้อสรุปของเยาวชนจากการทำวิจัย “โครงการกิจกรรมวันว่างและกิจกรรมสร้างสรรค์ของเยาวชน” โดย สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ที่ต้องการค้นหาความชอบ ความสนใจ สิ่งที่อยากเรียนรู้ และลงมือทำในช่วงเวลาว่างของเด็กๆ โดยพบข้อมูลที่น่าสนใจว่า อาชีพในฝันกลุ่มเด็กมัธยมต้นคือ พยาบาล นักธุรกิจ เจ้าของกิจการ แพทย์ ทักษะที่ต้องการคือ ภาษา ดนตรี กีฬา วิชาชีพ ขณะที่กลุ่มเด็กมัธยมปลายและอุดมศึกษา อาชีพในฝันคือนักธุรกิจ เจ้าของกิจการ ครู พยาบาล ยูทูบเบอร์ นักแสดง ส่วนทักษะที่อยากได้คือ วิชาชีพ ดนตรี ภาษา การแสดงออกในสังคม การขายออนไลน์ และการทำอาหาร
จึงเป็นที่มาของการจับมือร่วมกันระหว่าง สสส. และ กทม. ในการนำเอาข้อมูลจากงานวิจัยมาต่อยอดพัฒนาเป็นพื้นที่ต้นแบบในการทำกิจกรรมสร้างสรรค์ที่ตรงใจวัยรุ่น ในชื่อ “BKK-เรนเจอร์ x ปิดเทอมสร้างสรรค์ อัศจรรย์วันว่าง” The Miracle Playground @Siam : DREAM & DO เปิดพื้นที่ SIAM SQUARE BLOCK I ให้เด็กและเยาวชนได้มีทางเลือกในการทำกิจกรรมนอกเวลาเรียนตามความสนใจ เปลี่ยนวันว่างให้กลายเป็นโอกาสแห่งการเรียนรู้และสร้างสรรค์ ค้นหาสิ่งที่ชอบใช้วันว่างพัฒนาเป็นทักษะอาชีพ
“การได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ จากการทำกิจกรรม เชื่อว่าเด็กๆ จะได้ไอเดียต่างๆ ที่จะเปลี่ยนชีวิตของเขาได้ ดังนั้น กทม. พร้อมสนับสนุนทุกหน่วยงาน เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้ทำกิจกรรมสร้างสรรค์ในช่วงวันว่าง เพื่อให้เยาวชนไทยได้ร่วมกันสร้างอาชีพในฝันสู่อนาคตที่สดใส ก้าวสู่การสร้างเมืองของคนรุ่นใหม่ พัฒนาประเทศไทยให้เจริญก้าวหน้าต่อไป” ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ระบุ
โดยผลสำรวจของ สสส.ได้ถูกนำมาพัฒนาเป็นกิจกรรมสร้างสรรค์มีทั้งหมด 6 โซนประกอบไปด้วย 1.Music & Performance 2.Learn & Earn 3.IT (Platform & Content Creator) 4.Book & Language 5.Cooking & Café 6.Dream & Do ซึ่งสอดคล้องความต้องการของเยาวชน ในการค้นหาตัวเอง เปิดประสบการณ์ใหม่ ไม่ละทิ้งการเรียน พร้อมกับเปิดโอกาสให้น้องๆ ได้พบปะแลกเปลี่ยนมุมมองกับไอดอลในสาขาอาชีพต่างๆ สร้างแรงบันดาลใจการลงมือทำในสิ่งที่ชอบ ที่สามารถพัฒนาสู่อาชีพในฝันโดยใช้แค่วันว่าง
“เริ่มต้นจากสิ่งที่ชอบก่อน หาสิ่งที่อยู่ใกล้ตัว มาใช้ให้เกิดประโยชน์ ถ้าหนูเริ่มได้ทุกคนก็น่าจะเริ่มได้ ท้อได้แต่ต้องไม่ถอย” เป็นมุมมองในการใช้ความชอบมาต่อยอดเป็นธุรกิจของ “โฟกัส” ธันย์สิตา อริยะรุ่งรัตน์ วัย 15 ปี เจ้าของร้านคุณนายเบเกอรี่ ที่ขายขนมเบเกอรี่เพียงชิ้นละ 5 บาท แต่มีรายได้หลักล้านต่อเดือน
สอดคล้องกับ “เค้ง” ณภัทร อัสสันตชัย ศิลปินดิจิทัล ผู้สร้างรายได้จากการวาดรูปผ่านงานศิลปะบน NFT ที่พูดไปในแนวทางเดียวกันว่าให้ใช้ความชอบเป็นจุดเริ่มต้น "ให้เริ่มต้นจากการมองหาสิ่งที่ชอบก่อน ถ้าเราชอบปุ๊บ เราตั้งใจกับมัน ไม่ว่าจะยังไง มันต้องได้ผลซักอย่าง จะเกิดรายได้หรือไม่เกิดรายได้ก็ว่ากันอีกเรื่อง"
โดยเฉพาะอาชีพในฝันของเยาวชนส่วนใหญ่ในการเป็น YouTuber ก็มีคำแนะนำดีๆ จาก “พี่เหว่ง” ภูศณัฎฐ์ การุณวงศ์วัฒน์ และ “พี่เติ๊ด” ภูถิรพัฒน์ อ่องศรี คอนเทนต์ครีเอเตอร์ชื่อดังจาก ช่องเทพลีลา เจ้าของรางวัล Best Youtuber ผู้ผลิตคอนเทนต์สร้างสรรค์เพื่อเยาวชน มาแนะนำไอเดียในการสร้างสรรค์ผลงาน โดยทั้งคู่กล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า ให้เริ่มต้นจากความชอบก่อนเช่นกัน
“ถ้าอยากมีช่อง เริ่มต้นง่ายๆ ไม่จำเป็นต้องไปสนใจเรื่องของอุปกรณ์ เอาความสนใจของเราเป็นตัวตั้ง เรามีแรงบันดาลใจอะไร มี passion สนใจเรื่องอะไร ง่ายที่สุดก็คือ มือถือแค่นี้ก็สามารถทำคอนเท้นท์บน tiktok ได้แล้ว แล้วก็ไม่ต้องรอช้าเท่านั้นเอง” พี่เหว่งแนะนำ
“สิ่งสำคัญจริงๆ ก็คือการเริ่มต้น ความยากของมันมาจากการที่เราไม่ได้เริ่มต้นสักที การเริ่มทำคอนเทนต์ดีที่สุดก็คือเริ่มจากสิ่งที่เราสนใจ สิ่งที่เราชอบก่อน สิ่งที่เราทำแล้วเรารู้สึกสนุกกับมัน ถ้าอยากเป็น content creator สิ่งที่สำคัญคือเริ่มเลย” พี่เติ๊ดกล่าวย้ำ
“สสส.เราสำรวจพบว่าสิ่งที่เด็กๆ ชอบที่สุดก็คือการได้ทำสิ่งที่รัก ที่ชอบ ที่อยากทำในวันหยุด แล้วเด็กยุคนี้เองเมื่อโตขึ้นอยากเป็นอะไร ก็มีคำตอบที่เป็นพื้นฐานของวิชาชีพต่างๆ ที่เห็นชัดเจน หลายคนอยากเป็นนักธุรกิจ ทำธุรกิจออนไลน์ อยากเป็นChef อยากเป็น YouTuber อยากเป็นนักแสดงฯลฯ ซึ่งสิ่งต่างๆ ในยุคปัจจุบันนี้เป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้นอกห้องเรียน เป็นสิ่งที่จะติดตัวของเด็กและใช้ในชีวิตของเขาระยะยาวต่อไป” ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ระบุถึงความสำคัญของพื้นที่เรียนรู้นอกห้องเรียน
ด้าน ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. ได้ย้ำว่า ระยะเวลาเกือบ 3 ปีที่ขาดหายไปในช่วงของการเกิดสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้การเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนไทยถดถอย ส่งผลกระทบต่อสุขภาวะในทุกมิติ
“ทุกฝ่ายต้องเข้ามาช่วยกันเติมเต็มทักษะและความต้องการที่ขาดหายไป เพื่อให้เขาได้มีพื้นที่ในการทำกิจกรรมต่างๆ ที่ตนเองชื่นชอบ ได้ค้นพบตัวเอง ได้ค้นหาความชอบ ค้นหาความถนัด ได้เติมเต็มทักษะในด้านต่างๆ ที่ขาดหาย ช่วยเสริมสร้างให้เกิดการพัฒนาเด็กและเยาวชนครบทุกมิติ ทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และปัญญา ซึ่งการมี พื้นที่เรียนรู้หรือ Learning Space เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญในการสร้างทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 เพื่อเติมเต็มรากฐานของเด็กและเยาวชนในทุกแต่ละช่วงวัย”
โดย สสส.เตรียมขยายผลการดำเนินงานปิดเทอมสร้างสรรค์ อัศจรรย์วันว่าง ออกไปในระดับจังหวัด เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนและพัฒนาพื้นที่ต่างๆ ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีกิจกรรมหลากหลาย สอดคล้องตามความสนใจของเด็กและเยาวชน สร้างพื้นที่ต้นแบบการขับเคลื่อนเมืองแห่งการเรียนรู้ ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตของคนทุกช่วงวัย ซึ่งเป็นอีกหนึ่งแนวทางในการขับเคลื่อนสังคมสุขภาวะให้เกิดขึ้นประเทศไทย
“สสส.อยากให้ทุกคนเห็นความสำคัญของ 150 วันว่างแห่งการสร้างสรรค์ แล้วมาช่วยกันสร้างระบบการเรียนรู้คู่ขนานไปกับระบบการศึกษา ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของ Event แค่ความสนุกสนาน แต่ปิดเทอมสร้างสรรค์จะสร้างอนาคตให้กับเด็กไทยได้เป็นจำนวนมาก” ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) กล่าวเชิญชวน.