เมื่อวันที่ 20 ก.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่าที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบร่างกฎ ก.พ. ว่าด้วยโรค พ.ศ. …. ตามที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เสนอปรับปรุงกฎ ก.พ.ว่าด้วยโรค พ.ศ.2553 ที่กำหนดลักษณะต้องห้ามสำหรับผู้ที่จะเข้ารับราชการเป็นข้าราชการพลเรือนโดยให้ยกเลิก “โรควัณโรคในระยะแพร่กระจายเชื้อ” ออกจากลักษณะต้องห้ามของผู้ที่จะเข้ารับราชการพลเรือน เพราะโรควัณโรคมีแนวโน้มที่ลดลง และใช้เวลาในการรักษาประมาณ 2 สัปดาห์ สามารถหายได้
นอกจากนี้ได้เพิ่มโรคจิต (Psychosis) หรือโรคอารมณ์ผิดปกติ (Mood Disorders) ที่มีอาการเด่นชัดรุนแรงหรือเรื้อรัง และเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงานในหน้าที่ เป็นลักษณะต้องห้ามด้วย ส่วนโรคอื่นๆ ยังกำหนดเป็นลักษณะต้องห้ามตามเดิมได้แก่ 1.โรคเท้าช้างในระยะที่ปรากฏอาการเป็นที่รังเกียจแก่สังคม 2.โรคติดยาเสพติดให้โทษ 3.โรคพิษสุราเรื้อรัง และ 4.โรคติดต่อร้ายแรงหรือโรคเรื้อรังที่ปรากฏอาการเด่นชัด หรือรุนแรงและเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงานในหน้าที่ ทั้งนี้ มีผลนับตั้งแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก เดลินิวส์ วันที่ 20 กันยายน 2565
วันนี้ (20 กันยายน 2565) เวลา 09.00 น. พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งสรุปสาระสำคัญ เรื่อง ร่างกฎ ก.พ. ว่าด้วยโรค พ.ศ. .... และรายงานผลการแก้ไขปรับปรุงหนังสือเวียนของสำนักงาน ก.พ. ดังนี้
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติร่างกฎ ก.พ. ว่าด้วยโรค พ.ศ. .... และรายงานผลการแก้ไขปรับปรุงหนังสือเวียนของสำนักงาน ก.พ. ตามที่สำนักงาน ก.พ. เสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้ และรับทราบรายงานผลการแก้ไขปรับปรุงหนังสือเวียนของสำนักงาน ก.พ. ตามที่สำนักงาน ก.พ. เสนอ
ทั้งนี้ ร่างกฎ ก.พ. ดังกล่าว ตามที่สำนักงาน ก.พ. เสนอ เป็นการปรับปรุงกฎ ก.พ. ว่าด้วยโรค พ.ศ. 2553 เพื่อกำหนดให้ผู้ที่จะเข้ารับราชการเป็นข้าราชการพลเรือนต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามเป็นคนไร้ความสามารถ คนเสมือนไร้ความสามารถ คนวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ หรือเป็นโรคตามที่กำหนดโดยยกเลิกโรควัณโรคในระยะแพร่กระจายเชื้อ เนื่องจากโรควัณโรคมีแนวโน้มที่จะลดลงและใช้เวลาในการรักษาประมาณ 2 สัปดาห์ก็สามารถหายได้ และกำหนดเพิ่มโรคจิต (Psychosis) หรือโรคอารมณ์ผิดปกติ (Mood Disorders) ที่ปรากฏอาการเด่นชัดรุนแรงหรือเรื้อรัง และเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงานในหน้าที่ รวมทั้งรายงานผลการแก้ไขปรับปรุงหนังสือเวียนของสำนักงาน ก.พ. ตามที่สำนักงาน ก.พ. เสนอ เป็นการดำเนินการปรับปรุงหนังสือเวียนของ ก.พ. เพื่อการบริหารทรัพยากรบุคคลให้มีความเหมาะสม ทันสมัย สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนและคณะกรรมการแพทย์ของ ก.พ. ได้เห็นชอบด้วยแล้ว ประกอบกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นชอบด้วย
1. ร่างกฎ ก.พ. ว่าด้วยโรค พ.ศ. .... เป็นการปรับปรุงการกำหนดโรคอันเป็นลักษณะต้องห้ามในการเข้ารับราชการตามกฎ ก.พ. ว่าด้วยโรค พ.ศ. 2553 ซึ่งกำหนดให้ผู้ที่จะเข้ารับราชการเป็นข้าราชการพลเรือน นอกจากไม่มีลักษณะต้องห้ามเป็นคนไร้ความสามารถ คนเสมือนไร้ความสามารถ คนวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือน ไม่สมประกอบ หรือเป็นโรคตามที่กำหนด ดังนี้
กฎ ก.พ. เดิม |
ร่างกฎ ก.พ. (ใหม่) |
ข้อ 2 โรคตามมาตรา 36 ข. (2) คือ
|
ข้อ 4 โรคตามมาตรา 36 ข. (2) คือ
4.1 โรคทางกาย ได้แก่
|
(1) วัณโรคในระยะแพร่กระจายเชื้อ |
- ยกเลิก |
(2) โรคเท้าช้างในระยะที่ปรากฏอาการเป็นที่รังเกียจแก่สังคม |
คงเดิม |
(3) โรคติดยาเสพติดให้โทษ |
คงเดิม |
(4) โรคพิษสุราเรื้อรัง |
คงเดิม |
(5) โรคติดต่อร้ายแรงหรือโรคเรื้อรังที่ปรากฏอาการเด่นชัดหรือรุนแรง และเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงานในหน้าที่
|
คงเดิม |
ไม่มี |
4.2 โรคจิต (Psychosis) หรือโรคอารมณ์ผิดปกติ (Mood Disorders) ที่ปรากฏอาการเด่นชัดรุนแรงหรือเรื้อรังและเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงานในหน้าที่ |
|
ข้อ 5 วิธีการตรวจโรคตามข้อ 4 ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการแพทย์ของ ก.พ. กำหนด |
2. รายงานผลการแก้ไขปรับปรุงหนังสือเวียนของสำนักงาน ก.พ. เป็นการดำเนินการปรับปรุงหนังสือเวียนของ ก.พ. ซึ่งมีผลใช้บังคับกับส่วนราชการต่าง ๆ ที่อยู่ภายใต้กฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน โดยแบ่งการดำเนินการออกเป็น 3 ส่วน ดังนี้ (1) จัดประเภทหนังสือเวียนของสำนักงาน ก.พ. ที่ออกก่อนพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 และหนังสือเวียนที่ออกตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งยังบังคับใช้อยู่ (2) จัดทำฐานข้อมูลหนังสือเวียนของสำนักงาน ก.พ. ตามประเภท และหมวดหมู่ (3) ปรับปรุงหนังสือเวียนของสำนักงาน ก.พ. โดยรวมหนังสือเวียนหลายฉบับที่มีเนื้อหาเดียวกันให้คงเหลือฉบับเดียว และดำเนินการทบทวนมติคณะรัฐมนตรีที่บังคับใช้มานาน รวมถึงหนังสือเวียนที่เกี่ยวข้องให้มีความทันสมัย เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน
ขอบคุณที่มาจาก สรุปข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรี 20 กันยายน 2565