เป็นคำที่ถูกหยิบมาพูดถึงอย่างมากในช่วงเวลาที่ผ่านมา Quiet Quitting แปลตรงตัวคือการลาออกเงียบๆ แต่มันไม่ได้หมายถึงการลาออกจริงๆ แต่เป็นการกำหนดขอบเขตการทำงานของตัวเอง ไม่ได้ทุ่มเท ไม่ได้เชื่อว่าการทำงานหนักแล้วจะส่งผลดีเสมอไป หันมาใส่ใจสุขภาพของตัวเองมากกว่า
Quiet Quitting เทรนด์ทำงานในหมู่คนรุ่นใหม่ ที่กำลังเป็นกระแสโดยเฉพาะบน TikTok และกำลังพยายามบอกกับเราว่า ถ้าทำงานหนักไปแล้วมันไม่ตอบสนองกับชีวิต จะทำน้อยๆ เท่าที่จำเป็นก็ไม่ใช่เรื่องแย่อะไร
quiet quitting คืออะไร? ผู้ใช้ TikTok ที่ชื่อ @zaidleppelin เล่าให้ฟังในคลิปที่กำลังเป็นไวรัลของเขาว่า ไม่ใช่การลาออกเสียทีเดียว แต่เป็นการ ‘ลาออก’ จากแนวคิดที่อยากจะทุ่มเททำงานให้หนักกว่าที่จำเป็น
“คุณก็ทำหน้าที่ของคุณไปแหละ แต่คุณไม่เอาด้วยแล้วกับค่านิยมทำงานหนักที่บอกว่างานต้องกลายเป็นชีวิตของคุณ เพราะในความเป็นจริงมันไม่ใช่ และคุณค่าของคุณไม่ได้ถูกกำหนดโดยปริมาณผลลัพธ์ที่ผลิตออกมา” เซอิดอธิบาย
ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้วยพฤติกรรมเชิงองค์กรจากมหาวิทยาลัยน็อตติงแฮม อธิบายว่า เนื่องจาก ‘งาน’ กับ ‘ชีวิต’ แยกออกจากกันไม่ได้ง่ายๆ และทั้งสองก็ย่อมส่งผลกระทบถึงกันอยู่แล้ว quiet quitting ก็คือการตั้งใจพยายามรักษาสุขภาวะที่ดีในการทำงาน แทนที่จะต้องเผชิญกับการหมดไฟ หรือหันไปนิยามตัวเองผ่านการทำงานแทน
หากให้สรุปง่ายๆ Quiet Quitting นั้นใช้อธิบายการที่พนักงานคนหนึ่งจัดการหน้าที่ ความรับผิดชอบของตัวเองเรียบร้อยแล้วก็พอแค่นั้น เพื่อใช้เวลาที่เหลือกับตัวเองเพื่อให้ work life balance
จริงๆ แนวคิดแบบนี้มีมานานแล้วพอสมควร Quiet Quitting เหมือนเป็นชื่อเรียกขึ้นมาใหม่มากกว่า แน่นอนว่ามันคงไม่ผิด ที่ทุกคนต้องการดูแลสุขภาพชีวิตของตัวเอง แต่ในมุมขององค์กรหรือบริษัท ยิ่งถ้าเป็นเจนก่อนๆ อาจจะมองว่าเด็กสมัยนี้ ไม่มีความอดทน ไม่ทุ่มเทกับงาน ขี้เกียจ ทำงานแค่เท่าที่ได้รับ
ว่ากันว่า เทรนด์ใหม่นี้ กลายมาเป็นกระแสที่ถัดมาจาก ‘The Great Resignation’ หรือการลาออกระลอกใหญ่ในช่วงการระบาดของ COVID-19 ซึ่งเมื่อมาถึงตอนนี้ เส้นแบ่งชีวิตกับการทำงานก็ดูเหมือนจะเบลอจนแยกจากกันไม่ได้ ขณะที่การลาออกก็อาจจะไม่ใช่ทางเลือกที่ดีนักเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย จึงไม่แปลกที่หลายคนจะเห็นด้วยกับ quiet quitting
แนวคิดนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ สื่อหลายสำนักมองว่ามันค่อนข้างคล้ายคลึงกับแนวคิดเรื่อง ‘lying flat’ ที่กลายมาเป็นปรากฏการณ์ในหมู่วัยรุ่นจีนก่อนหน้านี้ ซึ่งก็หมายถึงการที่คนรุ่นใหม่หมดความทะเยอทะยาน จากการที่สังคมกดทับจนหมดโอกาสลืมตาอ้าปาก จึงเลือกใช้ชีวิตในแบบที่จะไม่ทำอะไรไปมากกว่าที่จำเป็น หรือทำให้น้อยที่สุด เอาแค่พออยู่รอด
ถึงอย่างนั้น quiet quitting ก็ไม่ใช่การทิ้งงานไปเลยเสียทีเดียว ซึ่งนี่เองก็เป็นปัญหา โดยเฉพาะกับคำว่า ‘quitting’ ที่อาจทำให้คนทำงานในเจเนอเรชั่นที่โตกว่าบางส่วนมองว่า คนทำงานรุ่นใหม่ ‘ขี้เกียจ’ หรือ ‘เหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ’ แต่ในความเป็นจริง มันก็หมายความเพียงแค่ว่า คนเหล่านี้จะยังทำงานอยู่ เพียงแต่จะทำเท่าที่จำเป็นเท่านั้นเอง
ว่ากันง่ายๆ มันก็คือการที่เราตั้งใจไม่ยอมให้ค่านิยมทำงานหนักมาเบียดบังการใช้ชีวิตนั่นแหละ
เหมือนกับ คนทำงานวัย 41 ปี ที่ให้สัมภาษณ์กับ The Wall Street Journal หลังไปค้นพบกับแนวคิดนี้ว่า “สิ่งที่น่าสนใจที่สุด คือ มันไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนไปเลยนะ ผมก็ยังทำงานหนักเหมือนเดิม ยังทำงานสำเร็จเท่าเดิม แค่ไม่เครียดและเหยียบย่ำจิตใจจนสลายไม่มีชิ้นดีแค่นั้นเอง”
ปัจจัยที่ทำให้เกิด Quiet Quitting หากสรุปแบบง่ายๆ ก็เกิดจากที่ปัจจุบันการทำงานค่อนข้างเครียด มีความรู้สึกเหนื่อยกับปัญหาที่เจอ ทุกคนเลยอยากที่หาจุดสมดุลให้กับชีวิต
ในมุมของบริษัทก็ควรทำความเข้าใจและส่งเสริมให้พนักงานได้มีเวลาพัก ไม่ว่าจะ พักกลางวัน พักร้อน ไม่รบกวนเมื่อพวกเขาใช้ชีวิตส่วนตัว เช่น ไม่ตามงานหลังเลิกทำงาน ให้พวกเขาได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ให้พวกเขาเห็นโอกาสในการเติบโตในองค์กร แล้วองค์กรก็จะได้ผลตอบแทนจากการทำงานแน่นอน
เรื่องนี้กลายเป็นที่หยิบยกขึ้นมาพูดในหลายแห่ง สุขภาพกาย สุขภาพจิตนั้นสำคัญ เพราะพนักงานที่ทั้งสองอย่างนี้ดี พวกเขาจะทำงานได้เต็มที่และส่งเสริมให้งานต่างๆ สำเร็จได้ดีขึ้น ยังไงก็เป็นเรื่องที่ต้องเอาใจใส่และทำความเข้าใจกัน เพราะจากการลาออกเงียบอาจจะกลายเป็นการลาออกจริงๆ ก็ได้
ขอบคุณที่มาเนื้อหาจาก สนุก.คอม และ the MATTER