วันที่ 30 สิงหาคม 2565 นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานเปิดและมอบนโยบายการเตรียมความพร้อมรับมือวิกฤตสุขภาพจิตในโรงเรียน Mental Health Crisis in School Setting ผ่าน Video Conference โดยมี นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. นายวิษณุ ทรัพย์สมบัติ ผู้อำนวยการสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา นางเกษศิรินทร์ สุวรรณสุนทร ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาระบบการแนะแนว สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา แพทย์หญิงดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์ ผู้อํานวยการกองบริหารระบบบริการสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต แพทย์หญิงวิมลรัตน์ วันเพ็ญ ผู้อํานวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการ สพฐ. (DOC) อาคาร สพฐ. 5 ชั้น 9 กระทรวงศึกษาธิการ
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในฐานะผู้รับผิดชอบการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานของประเทศ ได้จัดการเรียนการสอน กิจกรรมแนะแนว กิจกรรมเสริมหลักสูตรต่าง ๆ ที่มุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพเด็กไทยในศตวรรษที่ 21 ให้เป็นคนดี คนเก่ง สามารถแก้ปัญหา ปรับตัว สื่อสาร ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความสุข ซึ่งจากผลสํารวจสุขภาวะเด็กไทยจากหน่วยงานต่าง ๆ และจากสถานการณ์ปัญหาสุขภาวะเด็กไทย พบว่าเด็กไทยมีปัญหาด้านสุขภาพจิต อาทิ ภาวะเครียด ปัญหาด้านการปรับตัว ภาวะซึมเศร้าในกลุ่มเด็กนักเรียน ที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ที่ส่งผลกระทบกับการเรียน การดำเนินชีวิต และความปลอดภัยของนักเรียน
สพฐ. โดยสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงได้จัดประชุมทางไกล เรื่อง การเตรียมความพร้อมรับมือวิกฤตสุขภาพจิตในโรงเรียน Mental Health Crisis in School Setting ผ่าน Video Conference ขึ้น โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ผู้บริหาร สพฐ. ผู้บริหารกรมสุขภาพจิต ผู้รับผิดชอบระบบฐานข้อมูลสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา กลุ่มโทรทัศน์การศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน สำนักนโยบายและแผนการศึกษาขั้นพื้นฐาน และนักวิชาการศึกษา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และสถานศึกษาทั่วประเทศ เข้าร่วมการประชุม จำนวน 23,326 Users เพื่อเป็นการสร้างความตระหนัก และแนะนําแนวทางการจัดการภาวะวิกฤติสุขภาพจิตในโรงเรียน ให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และสถานศึกษาทั่วประเทศ ได้เตรียมความพร้อมรับมือวิกฤตสุขภาพจิตในโรงเรียน รวมทั้งนําระบบ School Health Hero มาใช้ในการเฝ้าระวัง คัดกรอง และเรียนรู้ดูแลสุขภาพจิตนักเรียนต่อไป
ที่มา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน