นายรัชชัยย์ ศรสุวรรณ นายกสมาคมพิทักษ์สิทธิ์ผู้บริหาร ครูและบุคลากรทางการศึกษา (ส.พ.บ.ค.) เปิดเผยว่าตามที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 19/2560 เรื่องการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ขอให้ไปรับฟังความเห็นจาก ครู บุคลากรทางศึกษา และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ว่ามีความคิดเห็นอย่างไร เพื่อจัดทำข้อเสนอไปยัง กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่ง คสช. นั้น ขอเรียนไปถึงท่านรองนายกฯวิษณุ เครืองาม ดังนี้
1. เรื่องนี้ครู ผู้บริหารโรงเรียนและบุคลากรทางการศึกษา ล้วนเรียกร้องให้มีการยกเลิกคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 19/2560 เพราะคำสั่งดังกล่าว ไม่เกิดประโยชน์ใดๆทั้งสิ้นในเรื่องการพัฒนาคุณภาพการศึกษาแต่อย่างใดเป็นการกำหนดภาระงานที่ซ้ำซ้อน สร้างความแตกแยกให้กับข้าราชการสังกัด สพฐ และ ข้าราชการสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวง อย่างไม่เคยปรากฎมาก่อน อีกทั้งการโอนอำนาจการบริหารบุคคลของข้าราชการสังกัด สพฐ ให้ไปอยู่ภายใต้อำนาจของ ข้าราชการสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็นข้าราชการคนละสังกัด ในขณะที่บรรดาผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งเป็นตัวเเทนของ สพฐ ล้วนเป็นผู้บังคับบัญชาของข้าราชการครูกลุ่มดังกล่าว เป็นผู้มีประสบการณ์ด้านการศึกษาขั้นพื้นฐาน และเป็นผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบต่อคุณภาพการศึกษาของนักเรียน กลับไม่มีอำนาจในการคัดเลือกคน เปรียบเสมือนให้อำนาจข้าราชการกรมประมง มีอำนาจในการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการสังกัดกรมชลประทานหรือ ให้อำนาจข้าราชการทหารกองทัพเรือมีอำนาจแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการทหารสังกัดกองทัพบก เป็นต้น ย่อมก่อให้เกิดปัญหาทั้งในเรื่องคุณภาพและความเหมาะสม แน่นอน
2. คำสั่ง คสช.ฉบับ19/2560 นั้น ไม่ถือว่าเป็นการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคแต่อย่างใด เป็นเพียงสั่งการให้อำนาจการบริหารบุคคลเปลี่ยนมือ เท่านั้น
3. ส่วนเรื่องการแก้ไขคำสั่งนี้จะกลับไปสู่ปัญหาเรื่องอำนาจการแต่งตั้งโยกย้ายในพื้นที่เช่นเดิมหรือไม่ นั้น เรื่องนี้นายรัชชัยย์ ฯ เห็นว่าก่อนอื่นต้องดูว่าเจตนารมณ์ที่แท้จริงของการออกคำสั่ง คสช.ที่ 19/2560 นั้นคืออะไร ซึ่งตามข้อเท็จจริงนั้น คสช.ประสงค์ดึงอำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง หรือ Single Command เท่านั้น สำหรับกรณีที่กล่าวหาว่า มีการทุจริตเรื่องการแต่งตั้งโยกย้าย นั้น ก็เป็นเพียงข้ออ้างให้เกิดความชอบธรรมในการดึงอำนาจเข้าสู่ส่วนกลางดังกล่าว เพราะหลังจากออกคำสั่ง คสช 19/2560 แล้ว รัฐบาลขณะนั้นซึ่งมีอำนาจเต็มในเรื่องการตรวจสอบขุดคุ้ย ก็ยังไม่สามารถหาตัวผู้กระทำความผิดตามที่มีการกล่าวหาได้แม้แต่รายเดียว
“ปัญหาเรื่องทุจริตการแต่งตั้งโยกย้ายนั้น ไม่ได้เกิดจากสภาพขององค์กรว่าองค์กรใดเป็นองค์กรที่หมกมุ่นกับการทุจริต แต่เกิดจากตัวบุคคลและระเบียบวิธีการประเมิน ถ้ากฎหมายกำหนดให้คะแนนในส่วนอำนาจดุลพินิจสูง โอกาสในการทุจริตก็ย่อมสูงไปด้วย” นายรัชชัยย์ฯกล่าวในที่สุด