เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ศ.กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตอนนี้ได้ตนพยายามเร่งรัดให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ..โดยเร็วที่สุด เพราะหากผ่านสภาฯได้ทันภายในรัฐบาลนี้จะสามารถทำอะไรได้อีกมาก และเมื่อเร็ว ๆ ได้พบ กับ ดร.ตวง อันทะไชย ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.การศึกษาฯ ก็ได้เร่งรัด ให้ผ่านสภาฯออกมาเป็นกฎหมายก่อน ส่วนใดที่ต้องแก้ไขค่อยมาพิจารณาภายหลัง โดยระหว่างที่พ.ร.บ.การศึกษาฯ ยังไม่ออกมาก็สามารถใช้กฎหมายการศึกษาอื่นมาใช้ก่อน อาทิ พ.ร.บ. การพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ.2562 พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 ฯลฯ มาขับเคลื่อนการศึกษาได้ ซึ่งในการลงพื้นที่จังหวัดอุดรธานี เมื่อเร็ว ๆ นี้พบว่า โรงเรียนบางกลุ่มบรรจุ วิชา หน้าที่พลเมืองศีลธรรม และความรอบรู้เกี่ยวกับสื่อ ประวัติศาสตร์ไทย ไว้ในหลักสูตร โดยใช้กฎหมายการศึกษาที่เปิดช่องมาดำเนินการ ถือเป็นเรื่องที่ดี เป็นการปฏิรูปการศึกษา แต่ก็ยังทำในวงแคบ
รองนายกฯ กล่าวต่อไปว่า ส่วนการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 19/2560 เรื่องการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)นั้น น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รายงานความคืบหน้าให้ทราบเป็นระยะ สำหรับตนไม่มีปัญหา แต่ขอให้ไปรับฟังความคิดเห็นจาก ครู บุคลากรทางศึกษา และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ว่ามีความคิดเห็นอย่างไร เพื่อจัดทำข้อเสนอไปยังกมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งคสช. ส่วนการแก้ไขคำสั่งนี้จะกลับไปสู่ปัญหาเรื่องอำนาจการแต่งตั้งโยกย้ายในพื้นที่เช่นเดิมหรือไม่ เรื่องนี้ ตนเคยให้ความเห็นไปแล้ว ว่า ถ้าแก้ไขกลับไป กลับมาก็จะไม่ได้ไปไหน มันแต่เดินหน้าถอยหลัง ก็ไม่ไปไหนสักที
ผู้สื่อข่าวถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่จะใช้หลักการเดิม ตามที่สภาผู้แทนฯให้มีการแก้ไขคำสั่ง คสช.ที่19/2560 เรื่องนี้ขอให้เป็นการตัดสินใจของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งก็เคยพูดกับน.ส.ตรีนุช ว่า ถ้าวนไปวนมาก็ไม่เดินหน้าไปไหนสักที เพราะฉะนั้นถ้าจะถอยหลัง ก็ต้องมีอะไรที่เดินหน้าให้เห็นด้วย ถึงจะชดเชยกันได้ ส่วนการแก้ไขคำสั่ง คสช.ที่19/2560 จะทันสมัยนี้หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับกระบวนการนิติบัญญัติที่เสนอให้มีการแปรญัตติ รวมถึงการประชุมของคณะกรรมาธิการด้วย แต่อย่างไรก็ตามยังมีเวลาอยู่อีก 1 สมัยการประชุมของวุฒิสภาชุดใหญ่ ซึ่งตนเชื่อว่าน่าจะทัน
“พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญและติดตามดู เพราะในบรรดาเรื่องการปฏิรูปประเทศทั้งหมด นายกฯ โดยเฉพาะเรื่องการปฏิรูปการศึกษา โดยสาเหตุที่ล่าช้า คิดว่าเป็นเรื่องของกระบวนการนิติบัญญัติ ซึ่งกฎหมายหลายฉบับก็เจอปัญหาเดียวกัน ส่วนจะคลอดทันรัฐบาลนี้หรือไม่ คิดว่ายังพอมีเวลาอีกหนึ่งสมัยประชุม เพราะฉะนั้นเชื่อว่าจะทัน”นายวิษณุ กล่าว
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก FOCUSNEWS วันที่ 15 สิงหาคม 2565