เมื่อวันที่ 15 ส.ค. ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ตามนโยบายของน.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ ที่มุ่งมั่นยกระดับคุณภาพการเรียนและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ซึ่งได้ดำเนินโครงการโรงเรียนคุณภาพชุมชนเกิดขึ้น โดยนำร่องปักหมุดที่จังหวัดสระแก้ว ในรูปแบบสระแก้วโมเดล ที่ถือเป็นต้นแบบความสำเร็จของการจัดการศึกษาในทุกมิติ โดยมีโรงเรียนเครือข่ายที่เข้าร่วมการบริหารรูปแบบการจัดการเรียนการสอน และใช้ทรัพยากรร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นการดำเนินการขับเคลื่อนโรงเรียนคุณภาพชุมชนตามนโยบายของน.ส.ตรีนุชนั้น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะเดินหน้าปูพรมโรงเรียนคุณภาพชุมชนให้เกิดขึ้นครบทุกตำบล เพราะเราเชื่อว่าในอนาคตคุณภาพการศึกษาจะเกิดขึ้นอย่างเท่าเทียมทุกโรงเรียน เนื่องจากโรงเรียนเหล่านี้จะมีครูครบชั้น มีสื่อการสอนที่ทันสมัย และมีสภาพอาคารเรียนสิ่งอำนวยความสะดวกด้านอื่นๆ
รองเลขาธิการกพฐ.กล่าวต่อไปว่า สำหรับโครงการโรงเรียนคุณภาพชุมชนเป็นโจทย์ที่ น.ส.ตรีนุช ต้องการให้เกิดการนำร่อง 1 โรงใน 1 สำนักงานเขตพื้นการศึกษาประถมศึกษา (สพป.) ซึ่งได้ทดลองนำร่องไปแล้ว 183 แห่ง โดยการเป็นโรงเรียนคุณภาพชุมชนนั้นเราสร้างโรงเรียนแม่เหล็กนำร่องนี้ เพื่อให้เกิดเครือข่ายการเรียนร่วมของโรงเรียนขนาดเล็กใกล้เคียงในพื้นที่ด้วยการเติมคุณภาพการศึกษา อาคารเรียน สื่อการสอน และครูภาษาต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นการดึงโรงเรียนขนาดเล็กรอบๆพื้นที่มาเรียนร่วมมาใช้ทรัพยากรร่วมกันกับโรงเรียนแม่เหล็กที่เป็นโรงเรียนคุณภาพชุมชน ขณะเดียวกันเมื่อเร็วๆนี้ได้มีการเสนอของบประมาณค่าพาหนะการเดินทางของนักเรียนในกลุ่มโรงเรียนคุณภาพชุมชนให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาไปแล้วด้วย เนื่องจากสพฐ.มีโรงเรียนในสังกัดกว่าสามหมื่นแห่ง และในจำนวนนี้ครึ่งหนึ่งเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก ดังนั้นเราจึงไม่ต้องการให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งโรงเรียนทุกแห่งไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ กลาง เล็ก จะต้องมีคุณภาพเท่ากัน
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก เดลินิวส์ วันที่ 15 สิงหาคม 2565