เมื่อวันที่ 1 ส.ค. นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ตนได้เป็นประธานในการประชุมสร้างความรู้ความเข้าใจการนำแนวทางการพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต “เด็กปฐมวัย” สู่การปฏิบัติ ผ่านระบบการประชุมทางไกล Zoom Meeting จัดโดยสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สพฐ. มีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา 183 คน ศึกษานิเทศก์ที่รับผิดชอบงานด้านการจัดการศึกษาปฐมวัย 183 คน ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัด 81 คน รวมถึงนักวิชาการศึกษา และผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสิ้นกว่า 500 คน เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต “เด็กปฐมวัย” โดยโรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัด เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาและคุณภาพผู้เรียนปฐมวัยให้มีพัฒนาการสมวัย เป็นคนดี มีวินัย เป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ
เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า สำหรับนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัยไปสู่การปฏิบัติได้อย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม โดยใช้ศักยภาพของโรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัดในการพัฒนาการจัดการศึกษาปฐมวัยให้แก่โรงเรียนอื่นๆ ได้ร่วมยกระดับคุณภาพเด็กปฐมวัยไปพร้อมกัน ทางด้านนางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. ได้นำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาภาวะถดถอยทางพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย และการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) สู่การพัฒนาสมรรถนะผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 ขณะที่ นายวิษณุ ทรัพย์สมบัติ ผู้อำนวยการสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา ได้สร้างความรู้ความเข้าใจในการดำเนินงานโครงการไปสู่การปฏิบัติ โดยความร่วมมือระหว่างสถานศึกษา พ่อแม่ ครอบครัว ชุมชน และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเด็กปฐมวัย ทางด้านนายบุญเลิศ ค่อนสอาด ที่ปรึกษาด้านมาตรฐานการศึกษา และนายชาญชัย ไชยพิศ ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลบุรีรัมย์ นายกสมาคมผู้บริหารและครูโรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัด (แห่งประเทศไทย) ได้ชี้แจงการขับเคลื่อนงานการพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต “เด็กปฐมวัย” โดยโรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัด ผ่านกิจกรรม “เด็กปฐมวัย คิดได้ ทำเป็น เล่นสนุก” ภายใต้โครงการพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต “เด็กปฐมวัย”
ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 สพฐ. จะ kick off โครงการพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต “เด็กปฐมวัย” โดยมีโรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัดเป็นแกนนำ ร่วมกับโรงเรียนอนุบาลประจำเขตพื้นที่การศึกษา และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา จากนั้นในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จะขยายไปสู่โรงเรียนอนุบาลประจำเขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งบทบาทของโรงเรียนที่เป็นแกนนำ คือ เป็นศูนย์วิชาการที่เป็นต้นแบบด้านการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้แก่เด็กปฐมวัย และการพัฒนาพ่อแม่ ผู้ปกครอง พร้อมทั้งเป็นแหล่งเรียนรู้ในการศึกษาดูงานและพัฒนาบุคลากรให้แก่โรงเรียนอื่นๆ ในด้านการจัดการศึกษาปฐมวัยด้วย เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาเด็กปฐมวัยให้มีพัฒนาการสมวัย เป็นคนดี มีวินัย เป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ ภายใต้ความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต่อไป.
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก เดลินิวส์ วันที่ 1 สิงหาคม 2565