เมื่อวันที่ 27 ก.ค. น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ว่า ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบ (ร่าง) หลักเกณฑ์และวิธีการย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้แก่ การย้ายกรณีปกติ การย้ายกรณีพิเศษ สำหรับกรณีการย้ายปกติ ที่ผ่านมาครูจะต้องดำรงตำแหน่งครูผู้ช่วย 2 ปี และดำรงตำแหน่งครูอีก 2 ปีรวมเป็นระยะเวลา 4 ปี จึงสามารถยื่นคำร้องขอย้ายได้ แต่หลักเกณฑ์ใหม่ได้กำหนดคุณสมบัติผู้ขอย้ายโดยที่ผู้ดำรงตำแหน่งครูผู้ช่วย เมื่อพ้นการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม และได้รับคำสั่งแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งครูแล้ว สามารถยื่นคำร้องเพื่อขอย้ายได้ทันที่โดยไม่ต้องรอให้ครบ 4 ปี ซึ่งการยื่นคำร้องจะสามารถดำเนินการได้ 2 ครั้งต่อปี ครั้งที่ 1 จะเริ่มดำเนินการยื่นเรื่องขอย้ายในช่วงเดือน ม.ค.ให้พิจารณาย้ายระหว่างวันที่ 15 ก.พ.-30 เม.ย. และครั้งที่ 2 ในเดือน ก.ค. ให้พิจารณาย้ายระหว่างวันที่ 1 ก.ย.-31 ต.ค. โดยใช้มาตรฐานตำแหน่งฯ ว 3/2564 เป็นองค์ประกอบการพิจารณาย้าย จากเดิมที่ยื่นคำร้องได้เพียงครั้งเดียว ทั้งนี้ยกเว้นครูในโรงเรียนจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย และโรงเรียนในพื้นที่นวัตกรรมจะไม่สามารถใช้กับหลักเกณฑ์นี้ได้
รมว.ศธ. กล่าวอีกว่า ทั้งนี้การขอย้ายกรณีพิเศษ หลักเกณฑ์และวิธีการใหม่ ผู้ขอย้ายจะต้องเพิ่มเติมรายละเอียดสาเหตุการย้ายให้ชัดเจนขึ้น และกำหนดให้ผู้ขอย้ายระบุอำเภอในจังหวัดที่ประสงค์ขอย้ายไปดำรงตำแหน่งด้วย เพื่อให้ผู้ขอย้ายได้รับการช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว โดยให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ที่รับย้าย เป็นผู้พิจารณาสถานศึกษาให้ไปดำรงตำแหน่ง และต้องดำเนินการนำเสนอคณะกรรมการการศึกษาจังหวัด (กศจ.) พิจารณาให้แล้วเสร็จโดยเร็วภายใน 45 วัน ซึ่งหลักเกณฑ์ดังกล่าวจะเริ่มใช้ในการพิจารณาย้ายครูในช่วงเดือนม.ค.พ.ศ.2566 ทันที.
"เรื่องนี้ถือเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่ครูในสังกัด ศธ.ที่สามารถทำให้ครูสามารถย้ายกลับภูมิลำเนาได้เร็วขึ้น ได้กลับมาทำงานในพื้นที่ในบ้านของตัวเองและทำให้การพัฒนาการศึกษามีความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น" รมว.ศธ. กล่าว
ต่อข้อถามว่า การแก้หลักเกณฑ์ดังกล่าวจะส่งผลกระทบเรื่องการขาดแคลนครูในบางโรงเรียน กรณีที่มีการขอย้ายกลับภูมิลำเนาหรือไม่ น.ส.ตรีนุช กล่าวว่า เรื่องนี้เราได้ดำเนินการควบคู่กันไป ทั้งการย้ายและการบรรจุอัตรากำลังใหม่ รวมถึง ก.ค.ศ.เองยังอยู่ระหว่างการปรับเกณฑ์การสอบบรรจุที่จะเปิดโอกาสให้โรงเรียนสามารถสอบบรรจุและคัดเลือกครูได้เองในอนาคต ซึ่งจะสามารถชดเชยปัญหาเหล่านี้ได้ อีกทั้งเรายังมีผู้ที่ขึ้นบัญชีครูผู้ช่วยไว้อยู่แล้วหากมีครูย้ายออกจากพื้นที่ใดก็สามารถเรียกผู้ขึ้นบัญชีบรรจุทดแทนได้ทันที.
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก เพจ At HeaR วันที่ 27 กรกฎาคม 2565