เมื่อวันที่ 19-20 กรกฎาคม 2565 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) ร่วมสร้างความตระหนักและแนวคิดสำคัญใน “การพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาที่เน้นสมรรถนะ” เพื่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในโรงเรียนคุณภาพ SMT สสวท. โดยในวันที่ 19 กรกฎาคม 2565 เป็นการประชุมปฏิบัติการหลักสูตรการพัฒนาผู้เชี่ยวชาญ โครงการโรงเรียนคุณภาพวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ตามมาตรฐาน สสวท. ระยะที่ 2 : ผู้เชี่ยวชาญเพื่อส่งเสริมการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาสมรรถนะผู้เรียน และในวันที่ 20 กรกฎาคม 2565 เป็นการประชุมหลักสูตรผู้บริหารสถานศึกษาโครงการโรงเรียนคุณภาพวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ตามมาตรฐาน สสวท. โดยมีผู้เชี่ยวชาญ SMT เข้าร่วมประชุมกว่า 400 คน รวมถึงผู้บริหารโรงเรียน รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ ครูวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี และผู้ประสานงาน รวมกว่า 2,500 คน
นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า จุดมุ่งหมายสำคัญของการสร้างคุณภาพให้เกิดขึ้นในโรงเรียนโดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงเรียนคุณภาพวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี คือการลดความเหลื่อมล้ำให้กับนักเรียนของเรา ซึ่งเรามักจะมองว่าความเหลื่อมล้ำเกิดจากวัตถุ งบประมาณ และต้นทุนของ input หรือตัวป้อนคือนักเรียน แต่ในทางกลับกันความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นสามารถเกิดได้จากครูของเราเองที่ให้โอกาสในการจัดสถานการณ์ให้นักเรียนคิดได้ไม่เท่ากัน ซึ่งถือเป็นเทคนิคในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ต่างกัน การตั้งคำถามที่กระตุ้นความคิดให้นักเรียนตอบ หรือการแสวงหาแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย ซึ่งทุกการจัดกิจกรรมการเรียนรู้จะส่งผลต่อพัฒนาการของนักเรียนทั้งสิ้น ดังนั้น เป้าหมายของการทำให้โรงเรียนในโครงการ SMT เกิดคุณภาพขึ้นได้ จึงอยู่ที่สถานศึกษา ผู้บริหาร และครูเป็นสำคัญ ที่จะร่วมกันขับเคลื่อนการจัดการเรียนรู้ สร้างคุณลักษณะที่พึงประสงค์ จนเกิดเป็นสมรรถนะผู้เรียน พร้อมทั้งบูรณาการทั้งระบบให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
“จะเห็นได้ว่า การพัฒนาโรงเรียนคุณภาพวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี (SMT) ต้องให้ความสำคัญที่ผู้บริหารสามารถรวมครูให้ร่วม PLC เพื่อเกิดการพัฒนานักเรียนอย่างต่อเนื่อง ทำอย่างไรถึงจะบูรณาการตัวชี้วัด ข้ามกลุ่มสาระฯ เติมคุณลักษณะและทำให้มีเวลาสร้างสรรค์ผลงานที่เกิดจากการเรียนรู้ในชั่วโมง จนถึงสมรรถนะของผู้เรียนได้ โดยหน่วยการเรียนรู้นั้นทำให้เข้าถึงความรู้เข้าถึงง่ายและมีความหมาย เชื่อมโยงกับชีวิตประจำวันของนักเรียน เรียนแล้วรู้ว่านำไปใช้อะไร ไม่เกิดคำถามว่าเรียนไปเพื่ออะไร นอกจากนี้ผู้เชี่ยวชาญของโครงการโรงเรียนคุณภาพ SMT เป็นบุคคลสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องเข้าใจอย่างลึกซึ้งในแนวคิดการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาที่เน้นสมรรถนะ ด้วยการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ Active Learning พร้อมที่จะไปเป็นโค้ชให้กับครูในโรงเรียน ดังนั้น ทั้งผู้เชี่ยวชาญและผู้บริหาร จะเป็นส่วนสำคัญของปัจจัยแห่งความสำเร็จ (Key Success Factors) ในการยกระดับโรงเรียนคุณภาพวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี (SMT) แล้วส่งให้ผู้เรียนถึงสมรรถนะได้ นอกจากนี้ สพฐ.ขอขอบคุณทาง สสวท. ที่ทำให้โรงเรียนมีแนวทางนำไปสู่คุณภาพอย่างชัดเจนและเป็นระบบที่เข้มแข็ง รวมทั้งเป็นต้นแบบได้” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว
ขอบคุณที่มาจาก สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน