รายละเอียด
ตามที่ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ เมื่อวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2562 ตามที่กระทรวงศึกษาธิการได้เสนอและให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องนำมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติไปใช้กับศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่รับผิดชอบ รวมทั้งประเมินผลการทำงาน ทั้งนี้ มาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติได้กำหนดเรื่องความปลอดภัยของเด็กที่เดินทางมายังศูนย์พัฒนาเด็กเล็กด้วยรถจักรยานยนต์ต้องมีหมวกนิรภัยสวมใส่เพื่อความปลอดภัย กระทรวงศึกษาธิการ จึงได้กำหนดนโยบายการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนของเด็กปฐมวัย เพื่อให้ผู้บริหารหน่วยงาน ผู้บริหารสถานศึกษา ครู อาจารย์ เจ้าหน้าที่ และบุคลากรทางการศึกษา เน้นย้ำให้หน่วยงาน/สถานพัฒนาเด็กปฐมวัยในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ให้ความร่วมมือในการดำเนินการและถือปฏิบัติ ดังนี้
1. ด้านบุคลากร
1.1 ผู้บริหารสถานศึกษาหรือสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย นำมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ ด้านการบริหารจัดการสภาพแวดล้อมเพื่อความปลอดภัย ไปใช้กับสถานศึกษาหรือศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่รับผิดชอบ โดยการส่งเสริมสนับสนุนให้เด็กเดินทางโดยปลอดภัย เช่น การเดินทางโดยทางเท้าจะต้องเดินทางกับผู้ใหญ่ ไม่เดินทางโดยลำพัง รถจักรยานต้องมีการป้องกันเท้าเข้าซี่ล้อ การโดยสารรถจักรยานยนต์เด็กต้องสวมหมวกนิรภัย รถรับส่งต้องถูกต้องตามระเบียบของกรมการขนส่งทางบก รวมทั้งจัดทำแผนปฏิบัติการการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนให้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมายและการมีส่วนร่วมของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในและนอกสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย
1.2 ผู้บริหารทุกระดับ ครู อาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษาต้องเป็นแบบอย่างที่ดีกับผู้ปกครอง นักเรียน ด้วยการปฏิบัติตามกฎจราจร กฎความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด ขับขี่หรือซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ต้องสวมใส่หมวกนิรภัย คาดเข็มขัดนิรภัย ไม่ขับรถเร็ว ไม่โทรศัพท์หรือใช้สื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) ขณะขับรถ ฯลฯ
1.3 ผู้บริหารทุกระดับ ครู อาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา ให้ความสำคัญในการลดพฤติกรรมเสี่ยงของเด็กปฐมวัย โดยให้สวมหมวกนิรภัย/คาดเข็มขัดนิรภัยขณะโดยสาร ร้อยละ 100 โดยสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยต้องขับเคลื่อนการดำเนินงานอย่างจริงจัง สร้างจิตสำนึกเพื่อลดการบาดเจ็บ และเสียชีวิต โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดกับเด็กปฐมวัย
2. ด้านหลักสูตร
พัฒนาหลักสูตรสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยและสื่อการเรียนการสอนที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน โดยเน้นการให้ความรู้และเสริมสร้างทักษะการเรียนรู้ด้านความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนให้มีความทันสมัยและเข้มข้นมากขึ้น โดยเข้าสู่กระบวนการเรียนการสอนในหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2560
3. ด้านการรับรู้
ให้ความสำคัญในการสร้างการรับรู้การป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ส่งเสริมค่านิยมวินัยจราจรอย่างต่อเนื่องและครอบคลุมในทุกพื้นที่ทั่วประเทศให้กับเด็กปฐมวัย ควบคู่ไปกับการปลูกฝัง สร้างความตระหนักรู้ ผ่านกิจกรรมรณรงค์ทั้งในรูปแบบการจัดทำสื่อสร้างสรรค์ และรูปแบบสื่อออนไลน์ รวมไปถึงการประชาสัมพันธ์ที่แสดงออกถึงพลังเชิงสัญลักษณ์ในการป้องกันอุบัติเหตุและลดการบาดเจ็บทางถนนทั้งในและนอกสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย เช่น การสวมหมวกนิรภัย การคาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้งในการโดยสารยานพาหนะ
4. ด้านการบริหารจัดการ
4.1 สร้างการมีส่วนร่วมโดยเชิญผู้ปกครอง ผู้นำชุมชน คณะกรรมการสถานศึกษา ภาคีเครือข่ายประชุมหารือร่วมกันเพื่อขับเคลื่อนนโยบายการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในกลุ่มเด็กปฐมวัยอย่างน้อย 2 ครั้งในทุกปีการศึกษา
4.2 กรณีรถยนต์มีผู้โดยสารที่เป็นเด็กอายุไม่เกิน 6 ปี ต้องจัดให้นั่งในที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กหรือนั่งในที่นั่งพิเศษสำหรับเด็กเพื่อป้องกันอันตราย หรือมีวิธีการป้องกันอันตรายในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ ไม่ว่าจะนั่งแถวตอนใด ซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 13)
พ.ศ. 2565 เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2565
ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖5
(นางสาวตรีนุช เทียนทอง)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ