ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) – มีการประชุมติดตามผลการดำเนินงานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาเขตพื้นที่การศึกษา หน่วยงานทางการศึกษา ของสถานีแก้หนี้ครู ในพื้นที่ภาคเหนือ-ภาคใต้ ผ่านระบบ Zoom โดยนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ได้กล่าวมอบนโยบายและแนวทางการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูฯ ว่า การแก้ไขปัญหาหนี้สินครูฯเป็นนโยบายที่สำคัญ และจริงจังของรัฐบาล ช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ศธ.ได้วิเคราะห์ถึงปัญหา พบว่า ภาพรวมของหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา มีสหกรณ์ออมทรัพย์ครูเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ จึงนำมาสู่การวางแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้สินครู โดยใช้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูเป็นฐาน และบูรณาการความร่วมมือร่วมกับกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย สถาบันการเงินต่างๆ ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กรมส่งเสริมสหกรณ์ เป็นต้น โดยได้รับการสนับสนุนจากคณะกรรมการกำกับการแก้ไขปัญหาหนี้สินของประชาชนรายย่อยเป็นอย่างดี จนนำมาสู่ 4 มาตรการหลัก ซึ่งรวมถึงการจัดตั้งสถานีแก้หนี้ ทั้งในระดับเขตพื้นที่การศึกษา 558 สถานี และระดับจังหวัด ให้เป็นกลไกหลักระดับพื้นที่ เพื่อทำหน้าที่เป็นคนกลางในการช่วยเจรจาไกล่เกลี่ย ประนอมหนี้ และปรับโครงสร้างหนี้ให้กับคุณครู
นางสาวตรีนุช กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกัน ศธ.ก็ได้เร่งดำเนินการในระดับนโยบายและแก้ไขปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์ รวมถึงการสร้างเครื่องมือทางการเงินเป็นปัจจัยเสริม เพื่อสนับสนุนให้การแก้ไขปัญหาหนี้สินครูดำเนินการได้รวดเร็ว ไม่ติดขัด ได้แก่ การหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อใช้สนับสนุนสหกรณ์ออมทรัพย์ครู ในฐานะเจ้าหนี้เงินกู้ของคุณครู ที่ต้องการนำเงินไปแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและเสริมสภาพคล่องทางการเงิน โดยเจรจากับสถาบันการเงินและชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งได้ให้การสนับสนุนเบื้องต้นแล้ว เป็นเงิน 33,000 ล้านบาท ธนาคารออมสิน สนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เป็นเงิน 5,000 ล้านบาท นอกจากนี้มีการปลดล็อคข้อจำกัด เพื่อเป็นกลไกสนับสนุนการแก้ไข เช่น การเจรจากับกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เพื่อให้ครูที่ลงทะเบียนแก้หนี้ สามารถกู้เงินสะสมจาก กบข.เพื่อมาลดยอดหนี้ได้ มีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สวัสดิการของข้าราชการไม่ให้สูงเกินค่าเฉลี่ย MLR มีการปรับแนวปฏิบัติการหักเงินเดือน เงินบำเหน็จบำนาญ จ่ายสวัสดิการ ช.พ.ค. / ช.พ.ส. ของทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวง และมีการผลักดันให้ครูสามารถเลือกสมัครเป็นสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ครูนอกพื้นที่จังหวัดได้ ซึ่งจะนำไปสู่การแข่งขันและการกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่เป็นธรรมแก่ครูและสมาชิกสหกรณ์ เป็นต้น
“การดำเนินงานดังกล่าวบางเรื่องยังไม่สำเร็จ และไม่สามารถกล่าวได้ว่า การแก้ไขปัญหาหนี้สินครูจะสำเร็จได้ทั้งหมดโดยเร็ว แต่สิ่งที่ ศธ.ดำเนินการอยู่เป็นจุดเริ่มต้น ที่ต้องขยายผลให้กว้างขวางและลงลึกมากยิ่งขึ้น เพื่อผลักดันให้เกิดความสำเร็จให้ได้” นางสาวตรีนุชกล่าว
พร้อมกับ บอกอีกว่า ตนได้รับทราบข้อมูลเบื้องต้นว่า ทางสหรณ์ออมทรัพย์ครูฯ ได้มีการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูร่วมกับสถานีแก้หนี้ได้สำเร็จในระดับหนึ่งแล้ว โดยตั้งแต่เดือน มกราคม – มิถุนายน 2565 มีคุณครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่ได้รับการปรับโครงสร้างหนี้แล้ว จำนวน 3,623 ราย งบประมาณที่ใช้ในการปรับโครงสร้างหนี้ 5,615,671,101 บาท ซึ่งการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูฯ เพื่อคืนศักดิ์ศรีให้แก่เพื่อนครูทั่วประเทศ จะไม่ประสบผลสำเร็จเลย หากขาดกลไกหลักอย่าง สถานีแก้หนี้ครู ทั้ง 558 แห่ง ซึ่งทำหน้าที่สำคัญในการเป็นคนกลางระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ ตลอดจนประสานเชื่อมต่อระหว่างนโยบายและการปฏิบัติเพราะท่านสามารถเข้าถึง ใกล้ชิด และรับรู้สภาพปัญหาของเพื่อนครูได้ดีที่สุด
“ดิฉันเชื่อมั่นว่าหากสถานีแก้หนี้ครูทุกแห่ง รวมพลังมุ่งมั่นทำงานแก้ไขปัญหาหนี้สินครูอย่างจริงจัง จะสามารถพลิกเปลี่ยนชีวิตของเพื่อนครู และครอบครัวให้ดีขึ้นได้อย่างแน่นอน ทั้งนี้หากมีความคิดเห็น ข้อเสนอต่างๆ ในการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูฯ ดิฉันยินดีรับฟังและจะนำสิ่งที่เป็นประโยชน์ในภาพรวม มาปรับใช้เพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาต่อไป” รมว.ศธ.กล่าว
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก ไทยโพสต์ วันที่ 7 กรกฎาคม 2565