นายนิพนธ์ ก้องเวหา ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อสร้างการรับรู้ในการดำเนินโครงการ จัดทำเกณฑ์การคัดเลือกผลงาน (Best Practice) และเครื่องมือในการกำกับติดตามโครงการขับเคลื่อนการจัดการเรียนรู้ด้วยสื่อเทคโนโลยีดิจิทัล ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน (OBEC Content Center) ณ ห้องประชุมต้นฟ้า ชั้น 24 โรงแรมแกรนด์ ทาวเวอร์อินน์ กรุงเทพมหานคร
นายนิพนธ์ ได้กล่าวว่า การประชุมวันนี้เพื่อดำเนินการขับเคลื่อน จัดทำเกณฑ์การคัดเลือกผลงาน หรือนวัตกรรมที่เกิดจากการนำความรู้ ความเข้าใจไปประยุกต์ใช้สื่อเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในระบบคลังสื่อ ของ สพฐ. รวมทั้ง ได้ช่วยพิจารณา ให้ข้อเสนอแนะ หรือแนวทางเพื่อให้ได้เครื่องมือที่ใช้ในการกำกับติดตามการขับเคลื่อนระบบคลังสื่อเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งเป็นนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการและท่านเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (นายอัมพร พินะสา) ที่ต้องการให้บุคลากรในสังกัดได้นำสื่อเทคโนโลยีดิจิทัลในระบบคลังสื่อไปใช้ประโยชน์ ซึ่งผมเห็นควรให้มีการส่งเสริม สนับสนุน สร้างแรงกระตุ้นเพื่อให้หน่วยงานในสังกัดได้รับรู้ เข้าใจ และสามารถนำไปขยายผลให้เกิดเป็นแรงขับเคลื่อนต่อไปได้
สำหรับการประชุมครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้คณะกรรมการ ซึ่งประกอบด้วย ประธานกรรมการบริหารกลุ่มพื้นที่การศึกษา ประจำเขตตรวจราชการที่ 1-18 ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้อำนวยการสถานศึกษา ศึกษานิเทศก์ และครูผู้สอน ที่ได้เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการฯ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การปฏิบัติ เข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับการประยุกต์ใช้ระบบคลังสื่อเทคโนโลยีดิจิทัล รับรู้และมีส่วนร่วมในการจัดทำหลักสูตรสำหรับการอบรม จัดทำหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกผลงาน และขยายผลการดำเนินงานของโครงการเพื่อนำไปขับเคลื่อน ให้บุคลากรในสังกัดได้เข้าใจถึงประโยชน์ของระบบคลังสื่อเทคโนโลยีดิจิทัล ที่ สพฐ. ได้จัดทำขึ้น รวมทั้งมีการส่งเสริม สนับสนุนให้ครูผู้สอนได้มีการประยุกต์ใช้งานในชุดโปรแกรมต่าง ๆ และระบบคลังสื่อเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อใช้ในการจัดการเรียนรู้วิถีใหม่ ซึ่งจะทำให้ผู้เรียนได้รับสื่อการเรียนรู้ที่มีคุณภาพและมีความหลากหลาย
โดยมีการจัดโครงการขับเคลื่อนการจัดการเรียนรู้ด้วยสื่อเทคโนโลยีดิจิทัล ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน (OBEC Content Center) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มการเรียนรู้ที่เป็นชุดโปรแกรม ประกอบด้วย
1. โปรแกรมสร้างเนื้อหาอิเล็กทรอนิกส์ (Authoring Tool)
2. ระบบตรวจสอบเนื้อหาอิเล็กทรอนิกส์ (Content Verification System)
3. ระบบบริหารจัดการเนื้อหาอิเล็กทรอนิกส์ (Content Management Center)
4. แอปพลิเคชันใช้งานเนื้อหาอิเล็กทรอนิกส์ (Content Center)
5. ระบบให้บริการเนื้อหาอิเล็กทรอนิกส์ (Local Content Service)
ทั้งนี้ แอปพลิเคชันฯ และระบบให้บริการเนื้อหาใน 8 ประเภทเนื้อหา ได้แก่ หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ แอปพลิเคชัน วิดีทัศน์ เสียง ภาพ ข้อสอบ เทมเพลต และมัลติมีเดีย รองรับการค้นหาและการกรองเนื้อหาตามหมวดหมู่เนื้อหาอิเล็กทรอนิกส์ ทั้ง 3 หมวดหมู่ ได้แก่ กลุ่มสาระการเรียนรู้ ระดับชั้น และระบบทศนิยมดิวอี้ เพื่อเผยแพร่ให้กับนักเรียน ครูผู้สอน บุคลากรทางการศึกษา และประชาชนทั่วไปที่สนใจ สามารถเข้าถึงการใช้งานเนื้อหาต่าง ๆ โดยใช้ได้กับเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล และเครื่องคอมพิวเตอร์แบบพกพา สำหรับการเรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา บนอุปกรณ์ที่หลากหลาย เพื่อใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนในห้องเรียน หรือเรียนรู้จากที่บ้านด้วยการใช้สื่อเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเครื่องมือทั้งระบบ Online และ Offline
นอกจากการดำเนินการในส่วนนี้แล้ว สพฐ.ได้ขอให้เขตตรวจราชการเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนนโยบาย เพื่อให้หน่วยงานในสังกัดได้มีการดำเนินการเพื่อการประยุกต์ใช้งานระบบคลังสื่อได้อย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานจะสนับสนุนงบประมาณเพื่อใช้ในการดำเนินการขับเคลื่อน มีเวทีสำหรับให้ครู และบุคลากรทางการศึกษา ได้นำผลงานที่เกิดจากการดำเนินงานมาเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ เพื่อให้เพื่อนครูได้นำไปใช้ประโยชน์ในการจัดการเรียนรู้วิถีใหม่ รวมทั้งได้มีงบประมาณสนับสนุนเพื่อสร้างแรงกระตุ้น ทั้งนี้จึงต้องขอความอนุเคราะห์จากประธานกรรมการบริหารกลุ่มพื้นที่การศึกษา ประจำเขตตรวจราชการที่ 1-18 ได้ดำเนินการให้ความร่วมมือ สนับสนุน โดยขอให้กลับไปมอบหมายผู้รับผิดชอบเพื่อดำเนินงาน และดำเนินการขยายผลให้ทุกเขตพื้นที่การศึกษาในแต่ละเขตตรวจราชการ ส่งผู้แทนและครูแกนนำเข้าประชุมเชิงปฏิบัติการขยายผลฯ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานจะให้การสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการ โดยมีนโยบายให้กลุ่มผู้เข้าร่วมประชุมได้รับความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้งานชุดโปรแกรมและระบบคลังสื่อเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อให้เกิดกระบวนการที่เกี่ยวข้อง และส่งผลให้เกิดการขับเคลื่อนนโยบายต่อไป
อ่านเพิ่มเติมได้จาก สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน