โดยมีนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุม และมี รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการ ก.ค.ศ. เป็นเลขานุการการประชุม ซึ่งที่ประชุมได้มีการพิจารณาเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาและมีมติที่สำคัญ ดังนี้
สืบเนื่องจากหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษาและผู้อำนวยการสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ว 8/2562) ข้อ 6.1 ซึ่งกำหนดให้ กศจ. หรือ อ.ก.ค.ศ. ที่ ก.ค.ศ. ตั้ง แล้วแต่กรณี กำหนดวันและเวลาในการคัดเลือก ฯ นั้น เห็นว่าเพื่อให้การบริหารจัดการการดำเนินการคัดเลือกของ กศจ. ทุกแห่ง เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นมาตรฐานเดียวกัน สามารถคัดเลือกบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ คุณธรรม จริยธรรม มีประสบการณ์และศักยภาพในการบริหารการศึกษา จึงมีมติกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษาและผู้อำนวยการสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
1. หลักเกณฑ์ที่กำหนดใหม่ใช้สำหรับการคัดเลือกผู้บริหารสถานศึกษา เฉพาะสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และให้ สพฐ. เป็นผู้รับผิดชอบงบประมาณในการดำเนินการสอบแข่งขัน
2. ให้สพฐ. กำหนดวัน และเวลาในการดำเนินการคัดเลือกทั้ง ในสพป. สพม. และ สศศ. (เดิม กศจ. กำหนด)
3. กรณีที่ สพป. สพม. และ สศศ. กำหนดวันและเวลาในการรับสมัครพร้อมกัน ให้ผู้สมัครเลือกสมัครแห่งใดแห่งหนึ่งเท่านั้น
4. กำหนดเงื่อนไขในการบรรจุและแต่งตั้งฯ ว่า ในวันบรรจุและแต่งตั้งจะต้องไม่ติดเงื่อนไข การปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนใต้ รวมทั้งเงื่อนไขอื่นใดที่ ก.ค.ศ. กำหนด
ทั้งนี้ ให้เพิ่มเติมเรื่องกฎหมายว่าด้วยมาตรฐานทางจริยธรรมในหลักสูตรการคัดเลือกด้วย สำหรับ รายละเอียดการดำเนินการเกี่ยวกับการคัดเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา สังกัด สพฐ. เนื่องจากเป็นการดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกฯ ว 8/2562 ที่ ก.ค.ศ. มีมติเห็นชอบไปแล้ว ตามหนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ. นั้น ที่ ศธ.0206.6/115 ลงวันที่ 31 มกราคม 2565 นั้น มอบ สพฐ. พิจารณา หากไม่มีประเด็นใดใน (ร่าง) หลักเกณฑ์และวิธีการ ฯ กระทบกับรายละเอียดดังกล่าว เห็นชอบให้ใช้รายละเอียดสำหรับการดำเนินการคัดเลือกฯ ในครั้งนี้ได้ แล้วให้ สพฐ. รายงานให้ ก.ค.ศ. ทราบ
สืบเนื่องจากที่ ก.ค.ศ. ได้กำหนดแนวทางดำเนินการเลื่อนระดับตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค. (2) ทั้งในตำแหน่งประเภททั่วไป และประเภทวิชาการ ก.ค.ศ. กำหนดให้ใช้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.พ. กำหนด โดยการเลื่อนตำแหน่งประเภททั่วไป ให้ดำเนินการตามหนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร.1006/ว 34 ลงวันที่ 29 ตุลาคม 2547 และที่ นร.1006/ว 22 ลงวันที่ 30 กันยายน 2540 ส่วนการเลื่อนตำแหน่งประเภทวิชาการ ให้ดำเนินการตามหนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร.1006/ว 10 ลงวันที่ 15 กันยายน 2548 ซึ่งการเลื่อนระดับตำแหน่งตามหลักเกณฑ์และวิธีการดังกล่าว ส่วนราชการและหน่วยงานการศึกษายังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนและมีการปฏิบัติไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนด และในปัจจุบันสำนักงาน ก.พ. ได้ออกกฎ ก.พ.ว่าด้วยการย้าย การโอน หรือการเลื่อนข้าราชการพลเรือนสามัญ พ.ศ. 2564 และแจ้งเวียนหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องกับการย้าย การโอน หรือการเลื่อนข้าราชการพลเรือนสามัญ พ.ศ. 2564 รวม 3 ฉบับ
ก.ค.ศ. พิจารณาหลักเกณฑ์และวิธีการของ ก.พ. ที่ ก.ค.ศ. นำมาบังคับใช้โดยอนุโลมมีการปรับเปลี่ยนอะไรบ้าง พร้อมทั้งนำกรณีที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาไม่สามารถดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่ ก.พ. กำหนดได้ มาประกอบการพิจารณาเพื่อกำหนดเป็นหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ค.ศ. กำหนด เพื่อให้สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง สอดคล้องกับบริบทและกลไกการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค. (2) ทั้งนี้ ให้เป็นตามมาตรฐานเดียวกันกับหลักเกณฑ์ และวิธีการที่ ก.พ. กำหนด เน้นหลักการกระจายอำนาจให้ส่วนราชการเป็นผู้วางระบบการคัดเลือกบุคคลอย่างเป็นระบบ มีความเป็นธรรมยิ่งขึ้น ประเมินโดยผู้บังคับบัญชาขั้นต้น ลดระยะเวลาการประเมิน และสามารถส่งเสริมผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ มีผลงาน โดยหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกเน้นความรู้ ความสามารถและความชำนาญในสายงานที่จะแต่งตั้งบุคคลให้เหมาะสมกับตำแหน่ง
ตามที่พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2565 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 19 (13)กำหนดอำนาจหน้าที่ของ ก.ค.ศ. ไว้อย่างชัดเจนว่า มีอำนาจเรียกเอกสารและหลักฐานจากหน่วยงานการศึกษามาเพื่อประกอบการพิจารณาได้ และมาตรา 20 กำหนดให้สำนักงาน ก.ค.ศ. มีอำนาจหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการดำเนินงานในหน้าที่ของ ก.ค.ศ. และ (7) กำกับ ติดตามและตรวจสอบการปฏิบัติงานตามพระราชบัญญัตินี้ ของหน่วยงานการศึกษาและเขตพื้นที่การศึกษา ดังนั้น เพื่อให้มีมาตรการในการกำกับ ติดตาม และประเมินผลการบริหารงานบุคคลที่เป็นรูปธรรม ก.ค.ศ. จึงจำเป็นต้องกำหนดมาตรการในการกำกับ ติดตาม และตรวจสอบการบริหารงานบุคคล โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1. กำหนดให้การส่งคำสั่งการบริหารงานบุคคลและเอกสารที่เกี่ยวข้อง เป็นตัวชี้วัดการประเมินผลการปฏิบัติงานของศึกษาธิการจังหวัด และผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา
2. กำหนดระยะเวลาในการจัดส่งเอกสารเพิ่มเติมเพื่อประกอบการพิจารณาตรวจสอบคำสั่งฯ จำนวน 2 ครั้ง
ครั้งที่ 1 ไม่เกิน 30 วัน หากสำนักงานศึกษาธิการรังหวัด/สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เห็นว่า
ไม่สามารถดำเนินการได้ ให้แจ้งมายังสำนักงาน ก.ค.ศ. ภายใน 15 วัน นับจากวันที่ได้รับหนังสือจากสำนักงาน ก.ค.ศ. เพื่อแจ้งเหตุที่ไม่สามารถดำเนินการได้ หรือขอขยายเวลาและกำหนดวันที่จะส่งเอกสารหลักฐานเพื่อประกอบการพิจารณาของ ก.ค.ศ.
ครั้งที่ 2 ไม่เกิน 30 วัน หากพ้นกำหนด ส่วนราชการ/หน่วยงานการศึกษายังไม่ดำเนินการ
ให้สำนักงาน ก.ค.ศ. รายงานหัวหน้าส่วนราชการต้นสังกัดทราบ เพื่อพิจารณาดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้อง
3. จัดทำระบบการรายงานการส่งคำสั่งและเอกสารที่เกี่ยวข้องของส่วนราชการ/หน่วยงานการศึกษา ไว้ที่หน้าเว็บไซต์สำนักงาน ก.ค.ศ. เพื่อให้สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด/สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกแห่งทราบและดำเนินการ
ที่มา สำนักงาน ก.ค.ศ.