เมื่อวันที่ 4 ก.ค. น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ว่า ที่ประชุมเห็นชอบหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษาและผู้อำนวยการสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยหลักเกณฑ์ฯดังกล่าวกำหนดใหม่ใช้สำหรับการคัดเลือกผู้บริหารสถานศึกษา เฉพาะสังกัด สพฐ.และให้ สพฐ.เป็นผู้รับผิดชอบงบประมาณในการดำเนินการสอบแข่งขัน พร้อมให้กำหนดวันและเวลาในการดำเนินการคัดเลือกทั้งในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) และสำนักงานการศึกษาพิเศษ (สศศ.) โดยกรณีที่ สพป. สพม. และ สศศ. กำหนดวันและเวลาในการรับสมัครพร้อมกันให้ผู้สมัครเลือกสมัครแห่งใดแห่งหนึ่งเท่านั้น นอกจากนี้ที่ประชุมยังเห็นชอบหลักเกณฑ์และวิธีการเลื่อนระดับตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค. (2) เพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภททั่วไปและตำแหน่งประเภทวิชาการ โดยการสอบดังกล่าวจะสอบพร้อมกันทั่วประเทศ และให้ สพฐ.เป็นผู้จัดสอบ เพื่อให้การสอบมีมาตรฐานเดียวกัน
รมว.ศธ.กล่าวต่อไปว่า สำหรับการเห็นชอบหลักเกณฑ์และวิธีการเลื่อนระดับตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค. (2) นั้น เนื่องจากก.ค.ศ. ได้กำหนดแนวทางดำเนินการเลื่อนระดับตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค. (2) ทั้งในตำแหน่งประเภททั่วไป และประเภทวิชาการ ก.ค.ศ. กำหนดให้ใช้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.พ. กำหนด โดยการเลื่อนตำแหน่งประเภททั่วไป ให้ดำเนินการตามหนังสือสำนักงาน ก.พ. ส่วนการเลื่อนตำแหน่งประเภทวิชาการ ให้ดำเนินการตามหนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร.1006/ว 10 ลงวันที่ 15 ก.ย. 2548 ซึ่งการเลื่อนระดับตำแหน่งตามหลักเกณฑ์และวิธีการดังกล่าว ส่วนราชการและหน่วยงานการศึกษายังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนและมีการปฏิบัติไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนด และในปัจจุบันสำนักงาน ก.พ. ได้ออกกฎ ก.พ. ว่าด้วยการย้าย การโอน หรือการเลื่อนข้าราชการพลเรือนสามัญ พ.ศ. 2564 และแจ้งเวียนหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องกับการย้าย การโอน หรือการเลื่อนข้าราชการพลเรือนสามัญ พ.ศ. 2564 รวม 3 ฉบับ ก.ค.ศ. พิจารณาหลักเกณฑ์และวิธีการของ ก.พ. ที่ ก.ค.ศ. นำมาบังคับใช้โดยอนุโลมมีการปรับเปลี่ยนอะไรบ้าง พร้อมทั้งนำกรณีที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาไม่สามารถดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่ ก.พ. กำหนดได้ มาประกอบการพิจารณาเพื่อกำหนดเป็นหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ค.ศ. กำหนด เพื่อให้สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง ทั้งนี้ ให้เป็นตามมาตรฐานเดียวกันกับหลักเกณฑ์ และวิธีการที่ ก.พ. กำหนด เน้นหลักการกระจายอำนาจให้ส่วนราชการเป็นผู้วางระบบการคัดเลือกบุคคลอย่างเป็นระบบ มีความเป็นธรรมยิ่งขึ้น ประเมินโดยผู้บังคับบัญชาขั้นต้น ลดระยะเวลาการประเมิน และสามารถส่งเสริมผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ มีผลงาน โดยหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกเน้นความรู้ ความสามารถและความชำนาญในสายงานที่จะแต่งตั้งบุคคลให้เหมาะสมกับตำแหน่ง
“ประเด็นเรื่องการเลื่อนวิทยฐานะสายสนับสนุน 38 ค.(2) ต้องการให้มีมาตรฐานเดียวกัน โดยจากนี้ ก.ค.ศ.จะไปออกหลักเกณฑ์ใช้เวลาให้สั้นขึ้น เพื่อจะได้ประหยัดเวลา สร้างขวัญกำลังใจ มีความยืดหยุ่น และออกแบบให้เหมาะสมกับกับการทำงาน ซึ่งมีเจ้าหน้าที่หลากหลาย ซึ่งเดิมให้หลักเกณฑ์ ของ ก.พ. แต่ ครั้งนี้ ทาง ก.ค.ศ.จะออกหลักเกณฑ์ขึ้นเพื่อความคล่องตัว” น.ส.ตรีนุช กล่าว
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก เดลินิวส์ วันที่ 4 กรกฎาคม 2565