ตรีนุช" ลงใต้ติดตามตรวจเยี่ยมสถานศึกษาในพื้นที่จ.พังงา ในโครงการอาชีวะอยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ ลั่น "รร.ขนาดเล็ก" ถ้าบริหารจัดการดี ก็ไม่จำเป็นต้องยุบควบรวม
กระแสสังคมเป็นห่วงการดำรงอยู่ หรือจะถูกยุบควบรวมของ “รร.ขนาดเล็ก” ยังปรากฏอยู่เสมอไม่ว่าจะเป็นได้รับงบอาหารกลางวันน้อยไม่เพียงพอ ขาดแคลนครูผู้สอน หรือไม่มีผอ. ล่าสุดมีความชัดเจนในเรื่องนี้จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
24 มิ.ย.2565 น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ลงพื้นที่ตรวจติดตามนโยบายการจัดการศึกษา โดยนางสาวตรีนุช กล่าวว่า ตนได้ตรวจเยี่ยมโรงเรียนบ้านลำวะ โรงเรียนบ้านกระโสม และวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี (วษท.) จังหวัดพังงา ซึ่งเป็นการติดตามนโยบายหลักของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) คือ โรงเรียนคุณภาพประจำชุมชน และโครงการพาน้องกลับมาเรียน ซึ่งพบว่าในส่วนของโครงการพาน้องกลับมาเรียนของวษท.พังงายังมีนักเรียนเข้าร่วมโครงการอาชีวะอยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพได้น้อยและยังไม่ตรงเป้าหมายเท่าที่ควร ดังนั้นวษท.พังงาจะต้องทำงานบูรณาการกับจังหวัดให้มากขึ้น พร้อมกับสื่อสารทำความเข้าใจให้แก่ชุมชนได้รับทราบถึงโครงการอาชีวะอยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพด้วย
น.ส.ตรีนุช กล่าวต่อว่า สำหรับการตรวจเยี่ยมโรงเรียนขนาดเล็ก “รร.ขนาดเล็ก” ในพื้นที่จังหวัดพังงา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) นั้น ซึ่งโรงเรียนบ้านลำวะ มีนักเรียน จำนวน 34 คน โรงเรียนบ้านกระโสม มีนักเรียน จำนวน 145 คน ซึ่งโรงเรียนทั้งสองแห่งเป็นโรงเรียนที่ได้รับการสนับสนุนจากชุมชนอย่างเข็มแข็งไม่ว่าการช่วยเหลือด้านงบประมาณ และการคมนาคม อีกทั้งโรงเรียนบ้านกระโสมถือเป็นโรงเรียนแม่ข่ายที่มีการช่วยเหลือด้านทรัพยากรให้แก่โรงเรียนบ้านลำวะ เพราะโรงเรียนบ้านกระโสมมีครูครบชั้น ดังนั้นแม้ทั่วประเทศยังพบโรงเรียนขนาดเล็กอยู่จำนวนมาก แต่หากบริหารจัดการได้อย่างมีคุณภาพก็เป็นเรื่องน่ายินดีและอาจไม่จำเป็นต้องไปยุบหรือควบรวม
เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึง งบอาหารกลางวันในกลุ่ม “รร.ขนาดเล็ก” ที่ได้รับในจำนวนที่น้อย จะสามารถจัดอาหารกลางวันให้เด็กอย่างทั่วถึงหรือไม่นั้น รมว.ศธ. กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ตนกำลังดำเนินการปรับแก้ไขอยู่ในรูปแบบการเพิ่มเงินอุดหนุนรายหัวนักเรียน ซึ่งที่ผ่านมาตนก็ได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดูแลเรื่อง “อาหารกลางวัน” ของเด็กนักเรียนว่าถูกหลักโภชนาการมาหรือไม่
"แต่อาจจะพบปัญหาในรร.นขนาดเล็กที่มีนักเรียนต่ำกว่า 120 คน ส่วนโรงเรียนขนาดใหญ่ทางโรงเรียนสามารถบริหารจัดการงบประมาณได้ง่ายกว่า ซึ่งจะเห็นว่ารร.ขนาดเล็กบางพื้นที่ ครูและนักเรียนได้ปรับเปลี่ยนโดยปลูกพืชผัก เพื่อนำมาใช้ประกอบเป็นอาหารกลางวันเพิ่มเติม แต่ต้องยอมรับว่าในบางพื้นที่ไม่สามารถจัดการได้สมบูรณ์ 100% ดิฉันจึงได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปดูแลช่วยเหลือ เพราะอาหารถือเป็นส่วนสำคัญ และมีผลอย่างมากต่อพัฒนาการในด้านสมองของเด็ก" รมว.ศธ. กล่าว
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก คมชัดลึก วันที่ 24 มิ.ย. 2565