เมื่อวันที่ 21 มิ.ย.2565 ดร.สุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2565 ตนได้ลงนามในประกาศคณะกรรมการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เรื่อง “รับสมัครคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)ตามหลักเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.)กำหนด ซึ่งการสอบครั้งนี้จะมีตำแหน่งว่าง 13 ตำแหน่ง โดยจะประกาศรับสมัครระหว่างวันที่ 1-7 กรกฎาคม 2565 ไม่เว้นวันหยุดราชการ และกำหนดให้สอบภาค ก. (สอบข้อเขียนความรู้เกี่ยวกับการบริหารงาน)วันที่ 24 กรกฎาคม 2565 โดยผู้ที่สอบผ่านภาค ก. เท่านั้นถึงจะมีสิทธิ์สอบภาค ข. และ ภาค ค.
“การสอบครั้งนี้ต้องตรงไปตรงมาด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรม เพราะฉะนั้นใครก็ตามถ้าอ้างว่าวิ่งเต้นได้ นั่นคือการโกหกแน่นอน 100% ขอให้รีบไปแจ้งความ ส่วนคนที่ยอมจ่ายเงินแสดงว่าจงใจที่จะทุจริต เพราะรู้อยู่แล้วว่าเป็นเรื่องโกหก ถ้าจ่ายแสดงว่ามีเจตนาไม่บริสุทธิ์ก็ให้นึกเอาเองว่าจะมีความผิดหรือไม่ อย่างไรก็ตาม วันนี้คนที่จะเป็นกรรมการในกระบวนการออกข้อสอบยังไม่รู้ตัวเลยว่าจะต้องเป็นกรรมการ เพราะเรื่องนี้ต้องเป็นความลับทุกขั้นตอน ตั้งแต่ออกข้อสอบจนถึงตรวจข้อสอบ”ดร.สุภัทร กล่าว
แหล่งข่าวใน ก.ค.ศ.กล่าวว่า การสอบคัดเลือก ผอ.เขตพื้นที่ฯครั้งนี้ ที่ไม่ได้แยกบัญชี เนื่องจากมองว่าการบริหารจัดการของเขตพื้นที่ฯทั้งสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา(สพป.) และ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา(สพม.) ก็บริหารภายใต้กรอบภารกิจ ที่แบ่งเป็น 10 กลุ่มเหมือนกัน รับนโยบายจากกระทรวงศึกษาธิการ และสพฐ.เหมือนกัน บริหารจัดการภายใต้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 และมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดฯ(ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2560)เหมือนกัน ขณะที่บาง สพป.ก็มีโรงเรียนสอนถึง ม.6 เหมือนกัน ดังนั้นจึงมองว่าการบริหารจัดการเขตพื้นที่ฯก็ไม่ควรแยกประถมศึกษา มัธยมศึกษา การสอบครั้งนี้จึงเป็นบัญชีเดียว และจะขึ้นบัญชีไว้ 2 ปี อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาถึงจะสอบพร้อมกัน แต่แยกบัญชีประถม มัธยม ซึ่งล่าสุดบัญชี ผอ.สพม.มีคนสอบได้ไม่เพียงพอกับตำแหน่งที่ว่าง โดยครั้งนี้ที่ว่าง 13 ตำแหน่ง ก็เป็นตำแหน่ง ผอ.สพม. และจะมีตำแหน่งเกษียณอายุราชการในเดือนกันยายน 2565 ทั้งตำแหน่ง ผอ.สพป.และ ผอ.สพม.ประมาณ 60 ตำแหน่ง ซึ่งเวลาเรียกรายงานตัวก็จะเรียกตามลำดับที่สอบได้ บางคนอาจจะได้เป็น ผอ.สพป.บางคนอาจจะเป็น ผอ.สพม.ขึ้นกับการเรียกบรรจุ ณ ครั้งที่มีตำแหน่งว่าง ทั้งนี้ สพฐ.อาจจะมีการโยกย้าย เลื่อนไหล ผอ.เขตพื้นที่ฯอีกครั้งก่อนที่จะเรียกผู้ที่ขึ้นบัญชีไว้มาทดแทนตำแหน่งว่าง
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก FOCUSNEWS วันที่ 21 มิถุนายน 2565