สลอด ตำแย หมามุ่ย....สมุนไพรนักเลงสมัยโบราณ..
คนรุ่นใหม่จะรู้จักหรือไม่ก็ไม่แน่ใจนะ
แต่หากเป็นคนรุ่นก่อน จะรู้จักกันดีถึงพิษสงที่จะทำให้ผู้เจอะเจอ
ลำบากกายทรมานใจ เข็ดหลาบไปนาน...
วันนี้ขอนำมาเล่าสู่กันฟัง.....
ตำแย และ หมามุ่ย
เป็นพืชที่หาไม่ยากนัก
สมัยเด็กๆ มักจะมีคนนำมาเล่น แกล้งเพื่อน แกล้งครูกันบ่อยๆ
หากโดนเข้าไปแล้วจะมีอาการคันคะเยอ
เกาจนเป็นลิง
หมามุ่ย ไม้ล้มลุกเลื้อย ดอกสีม่วง
ฝักโค้งเล็กน้อยนั้นมีขนพิษสีน้ำตาลปกคลุม
ขนที่ฝัก ทำให้คันเมื่อสัมผัส และเกิดอาการแพ้ ผื่นคัน และบวมแดง
วิธีรักษา เอาขนออกโดยลนเทียนไขให้อ่อน
หรือข้าวเหนียวสุกคลึงกับพื้นสะอาด จนเนื้อข้าวเหนียวเข้ากัน
แล้วนำมาคลึงบริเวณที่สัมผัสขน ทำหลาย ๆ ครั้งจนหมดหรือหาย
หากยังมีอาการแดง ให้ใช้คาลาไมน์โลชั่น
หรือครีมสเตียรอยด์ เช่น ครีมเพรดนิโซโลนทา
พร้อมรับประทานยาแก้แพ้ชื่อ คลอเฟนนิรามีนขนาด 4 มิลลิกรัม
ครั้งละเม็ดทุก 6 ชั่วโมง จนหาย
สลอด
ชื่ออื่นๆ : มะข่าง, มะคัง, มะตอด, หมากทาง, หัสคืน(เหนือ),
สลอดต้น, หมากหลอด, ลูกผลาญศัตรู(กลาง),
หมากยอง(ฉาน-แม่ฮ่องสอน)
ชื่ออังกฤษ : Purging Croton, Croton Oil Plant
ชื่อพฤกษศาสตร์ : Croton tiglium Linn.
วงศ์ : Euphorbiaceae
มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักดีในด้านมีฤทธิ์ทำให้ถ่ายท้องอย่างรุนแรง
น้ำมันที่สกัดจากเมล็ด เป็นยาถ่ายอย่างแรง และมีพิษมาก
ใช้เพียง 1 หยดก็มากพอที่จะทำให้ผู้ที่รับมันเข้าไปในร่างกายถ่ายจู๊ดๆๆ
จนแทบจะต้องไปนอนหยอดน้ำเกลือในโรงพยาบาล
... |
สลอด - พืชมีพิษที่มีคุณอนันต์
สลอด หรือ สลอดต้น (Croton tiglium Linn.)
เป็นไม้พุ่ม ใบเดี่ยวเรียงสลับ
ใบรูปไข่ ปลายแหลม ฐานกลม
ขอบใบหยักเป็นซี่ฟัน
เนื้อใบบาง มีต่อมที่ฐานใบสองต่อม
ดอกเล็ก ออกเดี่ยวหรือเป็นช่อที่ยอด
ดอกมีขน ผลรูปไข่ สีน้ำตาลอ่อน
แก่จัดจะแห้งและแตก |
ในใบสลอด มี hydrocynaic acid, triperpinoid
ส่วนในเมล็ด มีโปรตีนที่เป็นพิษ ๒ ชนิด
คือ croton globulin และ croton albumin
นอกจากนี้ก็มี น้ำตาล sucrose และ glycoside crotonoside
ให้น้ำมันสลอดที่ประกอบด้วย oleic, linoleic, arachidic, myristic,
stearic, palmitic, acetic และ formic acid
นอกจากนี้ยังมีกรด อีกหลายตัว
สรรพคุณทางยา :
ราก ต้มน้ำดื่มเป็นยาขับปัสสาวะ แก้บวมน้ำ
ถ้ากินมาก อาจทำให้แท้ง
รากและไส้มีรสเมาร้อน แก้โรคเรื้อน
เปลือกต้น มีรสเฝื่อน แก้เสมหะที่ค้างอยู่ในคอในอก
เนื้อไม้ ต้มน้ำดื่ม ทำให้อาเจียน ขับเหงื่อ เป็นยาขับปัสสาวะ
ใบ รสฝาดเมา ตำพอกแก้ฝีตะมอย
ดอก รสฝาดเมาเย็น ดับธาตุไฟมิให้กำเริบ
แก้ลมอัมพฤกษ์ แก้กลากเกลื้อน แก้คุดทะราด ( เป็นยังไงอธิบายไม่ถูก..หุหุ)
เมล็ด รสเผ็ดร้อนมัน เมล็ดมีพิษมาก
ต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง เพราะเป็นยาถ่ายอย่างแรงและเป็นพิษ
ก่อนใช้ประกอบยาต้องฆ่าฤทธิ์ยาตามตำรับกำหนดไว้เสียก่อน
จึงจะใช้เป็นยาถ่ายพิษเสมหะและโลหิต
ถ่ายน้ำเหลือง ถ่ายลม ถ่ายพยาธิ แก้การผิดปกติของจิตประสาท
แก้โรคลมชักบางชนิด แก้ท้องผูกที่ใช้ยาอื่นไม่ได้ผล
ขับพยาธิในลำไส้ แก้ท้องมาน บวมน้ำ ขับลม แก้ปวดท้อง แก้โรคเก๊าท์
ยาง จากทุกส่วนของต้นและเมล็ด มีพิษ
ที่น่าสนใจก็คือ ต่างประเทศได้นำสลอดต้นไปวิจัย
และพบว่ามีฤทธิทางเภสัชในการฆ่าเซลล์มะเร็ง
แต่น่าเสียดายที่ทุกวันนี้มีผู้ไม่หวังดีต่อภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย
ได้ใช้สลอดต้นกลั่นแกล้งพระเณรในชนบท
เพื่อให้ทางการออกกฎระเบียบ (ซึ่งข้าพเจ้ายังไม่รู้ว่าอยู่ในพรบ.ฉบับใด)
ให้ทำลายต้นสลอดเสมือนหนึ่งว่าสลอดต้น
เป็นยาเสพติดให้โทษ เช่นเดียวกับ ฝิ่น
ทำให้ลูกสลอด และส่วนต่างๆ ของสลอดต้น
ไม่สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาแผนโบราณ เหมือนสมัยก่อน
(ข้อมูลจาก www.samunpri.com/,
ข้อมูลและภาพจากwww.pharm.chula.ac.th )