20 มิถุนายน 2565 น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพิ่มประสิทธิภาพผู้ปฏิบัติงาน ช.พ.ค.-ช.พ.ส. และการบริหารสำนักงาน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) จังหวัด 77 จังหวัด ว่า สกสค.เป็นหน่วยงานที่มีความสำคัญ เพราะมีหน้าที่สร้างขวัญกำลังใจ ดูแลสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคคลกรทางการศึกษา อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนงานต่าง ๆให้เกิดผลนั้น ต้องอาศัยผู้อำนวยการ สกสค.จังหวัด ซึ่งอยู่ในพื้นที่และได้รับการยอมรับถูกคัดเลือกให้เข้ามาดูแลครูและบุคลากรทางการศึกษา และขับเคลื่อนงานลงสู่ระดับพื้นที่ ดังนั้น ผู้อำนวยการ สกสค.จังหวัด ถือเป็นตัวแทนของ ศธ. และ สกสค. ที่จะลงพื้นที่ดูแลสมาชิกทุก ๆคน
ในขณะเดียวกัน ต้องยอมรับว่าในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ทำให้โลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ปัญหา สกสค.ก็มีอยู่จำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเดิม ๆที่ยังค้างคาอยู่ และปัญหาใหม่ที่มีเข้ามา ดังนั้นจึงอยากให้ผู้อำนวยการ สกสค.จังหวัด ที่รู้ปัญหาในพื้นที่ของตนมาสะท้อนความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนงานของ สกสค. โดยตนได้มอบหมายให้นายพิเชฐ โพธิ์ภักดี ผู้ตรวจราชการ ศธ. รักษาการเลขาธิการคณะกรรมการ สกสค. รวบรวมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะให้คณะกรรมการ สกสค.พิจารณาต่อไป
น.ส.ตรีนุช กล่าวต่อว่า กว่า 1 ปี 3 เดือน ที่ตนเข้ารับตำแหน่ง รมว.ศธ. ได้เห็นมิติของ สกสค.ที่เกี่ยวกับสวัสดิการของครู จึงได้ปักหมุดวางเป้าหมายว่าจะแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาเป็นลำดับแรกๆ เพราะหนี้ครูถือเป็นหนี้ก้อนใหญ่ ปัจจุบันครูและบุคลากรทางการศึกษา ทั้งในและนอกประจำการ มีปัญหาหนี้สินรวม 9 แสนคน มีภาระหนี้ประมาณ 1.4 ล้านล้านบาท และเป็นนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้เป็นปีของการลดปัญหาและแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน ศธ.จึงมีเป้าหมายจะทำให้ครูอยู่ได้มีเงินเดือนหลังหักไม่ต่ำกว่า 30% ที่ผ่านมา ศธ.ดำเนินการแก้ปัญหาหนี้สินครูโดยการจัดตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา ระดับกระทรวงศึกษาธิการ ระดับจังหวัด และระดับเขตพื้นที่การศึกษา โดยใช้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูเป็นต้นแบบเป็นฐาน ซึ่งปัจจุบันมีสหกรณ์ออมทรัพย์ครู 37 แห่ง เข้าร่วม เพื่อลดดอกเบี้ยให้ครู และจะขยายไปยังสหกรณ์ออมทรัพย์ครูที่อื่น ๆต่อไป รวมทั้งเจรจากับธนาคารออมสิน เพื่อให้ธนาคารจัดหาสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan)ให้กับสหกรณ์ออมทรัพย์ครู นำไปลดภาระการเก็บดอกเบี้ยให้กับครูเพื่อให้ครูเหลือเงินไว้เป็นค่าครองชีพ
“ความจริงหนี้สินครูถือเป็นหนี้ดี ถือเป็นหนี้ปลดซอง ใครเป็นเจ้าหนี้ครูก็จะได้หักเงินเดือนอยู่แล้ว แต่ปัจจุบันกลับพบว่า สมาชิก ช.พ.ค. และ ช.พ.ส. ลดลงทุก ๆ ปี อาจจะเป็นเพราะสังคมเปลี่ยนไป อีกทั้งครูรุ่นใหม่ ๆไม่สนใจ จึงเกิดคำถามว่าถ้าเป็นสมาชิก ช.พ.ค.และ ช.พ.ส. แล้วมีข้อดีอย่างไร และจะได้ประโยชน์อะไรบ้าง จึงเป็นหน้าที่ของผู้บริหาร สกสค.จังหวัด ที่ต้องลงพื้นที่ ทำงานเชิงรุกเพิ่มมากขึ้น เพื่อสร้างความเข้าใจประชาสัมพันธ์ให้ครูรุ่นใหม่ ๆเข้ามาเป็นสมาชิก ช.พ.ค. และ ช.พ.ส. เพิ่มมากขึ้น” น.ส.ตรีนุช กล่าว
รมว.ศธ. กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา คณะกรรมการ สกสค.ได้หารือถึงการเพิ่มรายได้ให้ สกสค. โดยเฉพาะหอพัก สกสค. และโรงพยาบาลครู เนื่องจากในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ผลประกอบการของ สกสค.ฝืดเคือง จึงมอบให้กรรมการ สกสค.ไปทบทวนการบริหารจัดการ เช่น การปรับเลทราคาที่พักสำหรับบุคคลทั่วไป จากเดิมที่เก็บราคา 490 บาทต่อห้อง เพิ่มเป็น 700 บาทต่อห้อง ส่วนครูและบุคลากรทางการศึกษา ยังเก็บในราคาเดิม สำหรับในส่วนของโรงพยาบาลครูของ สกสค. ตนได้มอบให้กรรมการ สกสค.จัดระบบระเรียบและให้พิจารณาดึงภาคเอกชน หรือเอาท์ซอร์ส เข้ามาช่วยบริหารจัดการในการดูแลเรื่องสุขภาพ คุณภาพให้เป็นโรงพยาบาลที่ได้มาตรฐาน สามารถดูแลสวัสดิการสวัสดิภาพครูได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
“ส่วนความคืบหน้าการสรรหาเลขาธิการ สกสค. และเลขาธิการคุรุสภา ขณะนี้ทราบว่าหลักเกณฑ์การสรรหาเลขาธิการคุรุสภาได้จัดทำเสร็จแล้ว และได้ไทมไลน์ในการสรรหาเลขาธิการคุรุสภาเรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 2-3 เดือน ก็จะดำเนินการสรรหาเลขาธิการคุรุสภาได้ ส่วนการสรรหาเลขาธิการ สกสค.นั้น ต้องเร่งรัดให้นายสุภัทร จำปาทอง ปลัด ศธ. ยกร่างหลักเกณฑ์การสรรหาเลขาธิการ สกสค. ให้เสร็จโดยเร็ว คาดว่ากระบวนการสรรหาเลขาธิการคุรุสภา และเลขาธิการสกสค.จะใช้เวลาไล่เลี่ยกัน” น.ส.ตรีนุช กล่าว
น.ส.ตรีนุช กล่าวอีกว่า สำหรับความคืบหน้าในการแต่งตั้งโยกย้ายผู้บริหารระดับ 10 และ 11 เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง โดยปีนี้มีผู้บริหารระดับ 11 เกษียณอายุราชการ คือ ปลัด ศธ. ขณะนี้ตนกำลังตั้งเค้าดูความเหมาะสมอยู่ ซึ่งยังเหลือเวลาอีก 3-4 เดือน ที่จะหาผู้ที่เหมาะสมมาดำรงตำแหน่ง ปลัดศธ.
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก แนวหน้า วันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2565